สสส. รับฟังปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมมอบหน้ากากผ้า-น้ำดื่มให้ชาวชุมชนเพชรพระราม


สสส. รับฟังปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมมอบหน้ากากผ้า-น้ำดื่มให้ชาวชุมชนเพชรพระราม เตรียมมาตรการฟื้นฟูเยียวยาคนจนเมืองเครือข่ายสลัม 4 ภาค ส่งเสริมอาชีพ-เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในการลงพื้นที่รับฟัง แลกเปลี่ยน ปัญหาและผลกระทบต่างๆ จากโควิด-19 กับแกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมมอบหน้ากากผ้า จำนวน 500 ชิ้น และน้ำดื่ม 1,500 ขวด ให้แก่ ชุมชนเพชรพระราม กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบแก่ประชาชนในทุกด้าน ทั้งการดำเนินชีวิต รายได้ และสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมืองเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม การรับฟังปัญหาครั้งนี้จะนำไปสู่การฟื้นฟูเยียวยาที่ตรงจุดยิ่งขึ้น

ซึ่งสสส.มีมาตรการระยะสั้นและมาตรการฟื้นฟูเยียวยา โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค พัฒนากลไกและมาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยพัฒนาจุดจัดการให้ความช่วยเหลือคนจนเมือง กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น คนตกงาน คนไร้บ้าน ทั้งการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพเบื้องต้น การให้ที่พักอาศัยชั่วคราว พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครในการระดมและกระจายความช่วยเหลือสำหรับคนจนเมือง

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. ยังสนับสนุนให้มีระบบการระดมทรัพยากรที่เหมาะสมจากหน่วยงาน และประชาชนทั่วไปที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น หน้ากากผ้า ปัจจัยยังชีพในระดับชุมชนกับผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักตัว เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือในพื้นที่ 76 ชุมชน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สงขลา และตรัง ครอบคลุมกลุ่มที่ประสบปัญหากว่า 2 หมื่นคน ส่งเสริมอาชีพในช่วงวิกฤตผ่านการผลิตหน้ากากผ้า อุปกรณ์ face shield จำนวน 20,000 ชิ้น พัฒนาเครือข่ายอาชีพในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ สร้างพื้นที่การเกษตรในชุมชนแออัดสำหรับการพึ่งตนเอง และความมั่นคงทางอาหารเพื่อรองรับวิกฤตจากโรคอุบัติใหม่ และพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการสถานการณ์เมื่อต้องเผชิญวิกฤต

นางนุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาคมีฐานะยากจนหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว ผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตโควิด -19 เมื่อถูกเลิกจ้าง หยุดทำงานยิ่งทำให้เดือดร้อนอย่างหนัก ส่วนใหญ่มีอาชีพลูกจ้างรายวัน มอเตอร์ไซต์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ขายอาหาร ซึ่งความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ยังไม่ครอบคลุม เครือข่ายฯ ต้องเลือกชุมชนที่ได้รับความเดือนร้อนมากที่สุด บ้างหามาตรการช่วยเหลือกันเอง บ้างประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ โดยระยะยาวทุกคนพยายามปรับตัว เช่น ลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านโดยการปลูกผักกินเอง เพิ่มรายได้โดยการรับงานมาทำที่บ้าน เย็บหน้ากากผ้า ทำสบู่ ไข่เค็ม เพื่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน

นางปราณี ประสาทแก้ว ประธานชุมชนเพชรพระราม กทม.กล่าวว่า ชุมชนเพชรพระรามมีจำนวนครัวเรือน 250 ครัวเรือน หนึ่งในชุมชนเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นชุมชนแออัด ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยง ทำให้ทุกคนตื่นตัวและระมัดระวังตนเอง เพราะการเจ็บป่วยเพียง 1 คน ทำให้ครอบครัวล้มได้เลย ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีคนที่ทำงานเป็นเสาหลัก 1 คน แต่ต้องทำงานดูแลสมาชิกที่อยู่รวมกัน 5-8 คน ดังนั้นนอกจากพวกเราพยายามพึ่งพาตนเองแล้วก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ข้อมูล ณ ปี 2562 มีผู้สูงอายุในชุมชนมีจำนวน 80 คน มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือด บางรายเป็นอัลไซเมอร์ พิการ บางรายไม่มีลูกหลานดูแล ชุมชนต้องช่วยกันดูแล มีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการ และบางรายต้องได้รับการทำกายภาพบำบัด.