วช.- มก.ร่วมหนุน “บางแสน” สู่ “Zero Waste Beach” แห่งแรกไทย
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) พร้อมด้วยนายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาให้บางแสน กลายเป็น Zero Waste Beach แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช.เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้จากวิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองแสนสุขที่ต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบางแสน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ นำไปสู่การหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ที่มีประสบการณ์การบริหารงานวิจัยและพัฒนาในทุกสาขา จึงเกิดเป็นความร่วมมือใน “การยกระดับบางแสนเป็น Zero waste beach แห่งแรกของประเทศ” โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ มก. ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ ติดตั้ง และดำเนินการจัดการปัญหาขยะในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ ในกรอบเวลา 1 ปี โดยมีรศ.ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ
โดยการดำเนินงานจะใช้ 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.นำงานวิจัยที่วช.สนับสนุนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามาประยุกต์ใช้ที่บางแสน 2. งานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์พื้นที่บางแสนเอง และ3.เชิงนโยบายและมาตรการนำสู่การทำงานร่วมกันในระยะยาว โดยหลังจากวช.และมหาวิทยาลัยเกษตรทำงานเสร็จแล้ว ทางเทศบาลแสนสุขจะสามารถบริหารจัดการชายหาดบางแสนต่อไปได้
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า บางแสนไม่ใช่มีปริบทเป็นชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังมีปริบทด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันเรายังให้ความสำคัญด้านระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และประสบปัญหาหลายอย่างที่ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาขยะทะเลซึ่งเป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้ ส่วนขยะที่มาจากการท่องเที่ยว เราได้ใช้มาตรการหลายอย่างที่จัดการได้ มีการจัดระเบียบบริหารจัดการขยะ การท่องเที่ยวและการควบคุมต่าง ๆ บนชายหาดบางแสน
ในมิติด้านเศรษฐกิจ บางแสนเป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนในพื้นที่และเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของประชากรในเทศบาลเมืองแสนสุข และยังเป็นอีกหลายปัจจัย ในด้านสังคม เนื่องจากคนไทยรู้จักและมาเที่ยวบางแสน คนในพื้นที่จะเห็นว่า บางแสนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและไม่ดี เนื่องจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติถูกทำลายจากการท่องเที่ยวและการจัดการที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างขยะทะเล ทางเทศบาลได้เริ่มบริหารจัดการมาโดยตลอด มีสภาพดีขึ้นแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ จึงต้องการเทคโนโลยีมาช่วยเหลือในการจัดการระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม จึงยินดีที่ทางวช.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เชิญเทศบาลแสนสุขมามีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อให้งานวิจัยเกิดขึ้นจริง นำไปใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวในอนาคต
ด้านดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ต้องขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโอกาสทำงานในระดับประเทศ ทำงานภายใต้ความร่วมมือที่จะสร้างนวัตกรรมร่วมกันและไปใช้ร่วมกันในชายหาดบางแสน ที่เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งไม่ง่ายและท้าท้ายเหมือนชื่อโครงการท้าทายไทย โดยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่และแก้ยากมาก ตั้งแต่ การทิ้งขยะ การบริหารจัดการเก็บขยะในพื้นที่และการนำขยะไปใช้ประโยชน์ เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิจัยต่าง ๆ เรียบร้อยแล้วจะได้นำไปใช้และเผยแพร่ต่อไป
ดร.จงรัก กล่าวต่อว่า ในช่วง3-4 เดือนที่ผ่านมา ชายหาดบางแสนมีชื่อเสียงทั้งในด้านดีและไม่ดี หากโครงการนี้ทำสำเร็จก็จะนำไปใช้ที่ชายหาดทั่วประเทศได้ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากที่จะทำโครงการนี้นำร่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยินดีช่วยสนับสนุนและจะใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ร่วมทำให้บางแสนเป็นชายหาดที่สวยงาม ไร้ขยะ เป็นหาดนำร่องทำให้ประเทศไทยมีบรรยากาศของการท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามต่อไป มีความสะอาดและมีระบบนิเวศน์เหมาะสมกับการเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว
ฝ่ายศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า วันนี้เรามาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันจะทำให้บางแสนเป็น Zero waste beach ตัวอย่างของประเทศ โดยดำเนินการบน 2 พื้นฐานหลักคือ 1. สิ่งที่ดำเนินการ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างทีมงานนักวิจัยที่ขับเคลื่อนและในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้ในระยะเวลา 1 ปีไปขยายผลต่อ 2. การทำให้เกิด Zero waste beach เป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องร่วมมือของคนจำนวนมากและใช้หลายศาสตร์เพื่อทำให้ไม่เกิดขยะ และเมื่อมีขยะเกิดขึ้นจะทำอย่างไรให้มีจำนวนน้อย ทำอย่างไรให้ใช้วัสดุย่อยสลายได้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงจะทำอย่างไรที่จะสามารถเก็บขยะออกมาได้และเอามาใช้การได้ เช่น ทำอย่างไรที่จะมีกระบวนการเก็บขยะบริเวณชายหาด ทำอย่างไรที่จะเก็บขยะในน้ำทะเลและการบริหารจัดการโดยรวม
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางวช.คาดหวังอยากจะให้เกิดขึ้น อยากให้มีความมั่นใจและขอแสดงความมั่นใจในกระบวนการขับเคลื่อนว่า เราจะร่วมมือกันไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ และหวังว่า สิ่งที่เราจะร่วมดำเนินการนี้จะเป็นตัวอย่างของการที่เราสามารถนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์ต่อไป
สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการทำให้ชายหาดบางแสนไร้ขยะ มีดังนี้
- นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยแล้วและสามารถดำเนินการได้จริงภายใต้การสนับสนุนของ วช. ไปประยุกต์ ติดตั้ง และใช้งานในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข
1.1 เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยไม่ใช้สินค้าครั้งเดียวทิ้ง (Single-used) ร่วมมือกับเอกชนในพื้นที่ส่งเสริมการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลอด ถุง และอื่นๆ
1.2 เพื่อลดการเกิดขยะในพื้นที่ โดยการนำขยะไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำกระเบื้อง ขอบถนน วัสดุมวลเบา อิฐตัวหนอน และกระถางต้นไม้
1.3 เพื่อลดขยะตกค้างจากบริเวณชายหาดบางแสน เช่น การใช้อุปกรณ์กวาดขยะชายหาด ประยุกต์ใช้ตาข่ายในการดักขยะจากท่อในพื้นที่
1.4 เพื่อกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่กำจัดขยะ เช่น การทำก้อนเชื้อเพลิง (RDF) การทำน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก
1.5 เพื่อกำจัดขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วซึ่งถือเป็นขยะติดเชื้อ โดยดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ โดยกำหนดจุดทิ้งขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะอื่น ๆ โดยมีข้อความระบุชัดเจนเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี - การวิจัยเพื่อตอบปัญหาเชิงพื้นที่
2.1 การประเมินปริมาณขยะบริเวณชายหาดในช่วงฤดูมรสุม
2.2 การกำจัดขยะที่ลอยในทะเลในบริเวณพื้นที่ที่มีคลื่นกระแทก โดยใช้เรือเก็บขยะในทะเลไร้คนขับ
2.3 เทคโนโลยีการเก็บขยะตกค้างบริเวณชายหาดที่เป็นโคลนและโขดหิน
2.4 วิจัยพัฒนาถังขยะอัจฉริยะ เพื่อแยกขยะแต่ละประเภท - แนวทางการบริหารจัดการขยะพื้นที่ในระยะยาว
โดยนำผลการดำเนินงานทั้งหมดมาจัดทำนโยบาย แผนงานและมาตรการเพื่อเป็นแนวทางให้เทศบาลเมืองแสนสุขในการจัดการและกำหนดงบประมาณในการดำเนินงานในระยะยาว
การดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในระยะ 1 ปี จะสามารถจัดการขยะในเทศบาลแสนสุขได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของร้านค้าและผู้ประกอบการในพื้นที่ ใช้สถาบันการศึกษาท้องถิ่นเป็นหน่วยงานดำเนินงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่น และการประสานงานของทุกภาคส่วนผ่านการทำงานของเทศบาลแสนสุข
ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวได้นำส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อลดขยะมาแสดง อาทิ เรือเก็บขยะ ถังขยะอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้และผลิตภัณฑ์จากขยะ