จุรินทร์-เฉลิมชัย นำกระทรวงพาณิชย์-เกษตรฯขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือสร้างประเทศเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงมีพันธกิจร่วมกัน คือ สร้าง Single Big Data ใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ พัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าภายใต้นิยาม “พาณิชย์ทันสมัย” นำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ เพื่อทำการตลาดอย่างแม่นยำ สร้างทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศ ขยายตลาดด้วยเทคโนโลยีและการค้าออนไลน์ สร้างโมเดลการค้าใหม่ให้เกิดขึ้น ส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทย โดยมุ่งไปทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ใช้ทีมเซลล์แมนจังหวัดประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัด ผู้ประกอบการในจังหวัด
ด้านตลาดต่างประเทศ ใช้ทีมเซลล์แมนประเทศประกอบด้วยทูตพาณิชย์กับผู้ส่งออกภาคเอกชน มีช่องทางการตลาด คือ ออนไลน์ (แพลตฟอร์มรายการสินค้าเพื่อรองรับนิวนอร์มอล) ออฟไลน์ (โมเดิร์นเทรด ,สมาร์ทโชวห่วย ,ธงฟ้า ,โมบายมาร์เก็ต ,โมบาย ,รถพุ่มพวง,คาราวาน ,ตลาดต่างๆ,ตลาดกลาง ,ตลาดสด) คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (ทำเกษตรพันธสัญญา)เคาน์เตอร์เทรด (สร้างเวทีสร้างจับคู่ให้มากขึ้น)
“วันนี้ต้องถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย คือ เป็นการเปิดศักราชใหม่อย่างเป็นรูปธรรมในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสองกระทรวงหลักคือกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวใจสำคัญของวันนี้ก็คือการเปิดวิสัยทัศน์สำคัญร่วมกันของทั้งสองกระทรวงภายใต้วิสัยทัศน์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสไทยทุกคนโดยใช้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิตและภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้มีเป้าหมายชัดเจน คือเป้าหมายในการเดินหน้ายุทธศาสตร์เป็นเป้าหมาย 1 สร้าง 3 เพิ่ม หนึ่งสร้างที่ว่าก็คือการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก ส่วนเป้าหมายสามเพิ่ม ที่ว่าก็คือเพิ่มที่หนึ่ง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มที่สองก็คือการเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ และเพิ่มที่สามก็คือการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยการที่จะบรรลุหนึ่งสร้างสามเพิ่มนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์จะต้องมีพันธกิจร่วม 4 พันธกิจด้วยกัน พันธกิจร่วมที่หนึ่งก็คือ การที่จะต้องร่วมกันสองกระทรวงในการสร้าง Single Big Data ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ทั้งสองกระทรวงได้ใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกันเสียที ไม่มีของเขาของเรา ไม่มีของพาณิชย์ไม่มีของเกษตร มีแต่ Single Big Data ร่วมของประเทศทั้งด้านการผลิตและการตลาด” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า พันธกิจร่วมที่สอง ก็คือการที่เราจะต้องร่วมกับสองกระทรวงสร้างแพลตฟอร์มกลางเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อให้ภาคการผลิตคือ ภาคการเกษตร ภาคการแปรรูป อุตสาหกรรม ภาคการค้า การลงทุนการส่งออกได้สามารถมาใช้แพลตฟอร์มกลางที่ว่านี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลแลกเปลี่ยนพันธสัญญาในการซื้อขายและการทำการตลาดร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
พันธกิจร่วมที่สาม คือ การที่สองกระทรวงจะต้องร่วมกันในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในสินค้าเกษตรของท่านโดยจะต้องมุ่งเน้นคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งนี่คือเป้าหมายของการตลาดและการผลิตยุคใหม่ที่โลกต้องการและเป็นการสะท้อนว่าเราเดินไปสู่ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต เพราะถ้าตรวจสอบย้อนกลับไม่ได้ก็จะขายยากในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสำคัญของโลกในประเทศที่มีศักยภาพมีที่ดี มีรายได้สูง
พันธกิจร่วมประการที่สี่ อยู่ที่กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ต้องทำร่วมกันคือ เรื่องการที่จะต้องพัฒนาคนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดร่วมกันทั้งคนทั้งผลิตภัณฑ์ทั้งสองกระทรวงต้องพัฒนาไปด้วยกันพร้อมกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต และเพื่อนำไปสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์สร้างโอกาสไทยทุกคน นี่คือ 4 พันธกิจร่วมเบื้องต้นที่ขอเปิดวิสัยทัศน์ในวันนี้ ที่สองกระทรวงจะทำร่วมกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การที่จะบรรลุพันธกิจรวม 4 พันธกิจ จะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันสองกระทรวง โดยมีประธานทั้งสองกระทรวงเป็นผู้ไปทำธุรกิจร่วมกัน ในการจัดทำเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจน ไปทำแผนปฏิบัติทำโครงการขับเคลื่อน ทำตัวชี้วัด และไปทำทุกอย่างให้ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไปตนแนะนำว่านอกจากคณะทำงานชุดรวมแล้วต้องมีคณะทำงานแต่ละชุดที่จะบรรลุเป้าหมายพันธกิจร่วม 4 ชุดนี้และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของการเป็นเกษตรทันสมัย กระทรวงพาณิชย์ก็เช่นเดียวกันต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นพาณิชย์ทันสมัย
สำหรับพาณิชย์ทันสมัย คือ ประการหนึ่งต้องเป็นพาณิชย์ที่นำเทคโนโลยีและข้อมูลทันสมัยมาใช้เพื่อทำการตลาดอย่างแม่นยำจากทุกมุมโลกจากทุกข้อมูล จากทุกแหล่งมาบูรณาการและมากลั่นกรองเป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การดำเนินการทางการตลาดที่ถูกต้องชัดเจน
พาณิชย์ทันสมัยประการที่สอง คือ กระทรวงพาณิชย์ต้องสร้างทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพให้ได้ เซลล์แมนจังหวัดไม่ใช่แค่พาณิชย์จังหวัดคนเดียวแล้วตั้งตัวเองเป็นเซลล์แมนจังหวัดแต่เซลล์ในจังหวัดต้องประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัด ภาคเอกชน ภาคการผลิตและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานเซลล์ทีมเซลล์แมนจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ทางการตลาดภายใต้หลักพาณิชย์ทันสมัย ทีมเซลล์แมนประเทศต้องประกอบ ด้วยพาณิชย์และภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้ง ผู้นำเข้าในตลาดประเทศนั้น มารวมตัวกันเป็นทีมเซลล์แมนประเทศ จึงจะเป็นพาณิชย์ทันสมัย
ประการที่สาม จะต้องมีการขยายตลาดการค้าออนไลน์ซึ่งถือว่าเป็นระบบการค้าแบบที่เรายังไม่นำมาใช้อย่างแพร่หลายจริงจัง ต่อไปจะเป็น New Normal ตัวจริงของตลาดโลกขึ้นมา เพราะเมื่อคนนับหนึ่งจากการระบบใช้ ecommerce การใช้การค้าออนไลน์ต่อไป ก็คงจะชินกับระบบนี้และสะดวกคล่องตัวโดยไม่ต้องเดินทางไปพบตัวเอง แค่ซื้อบนจอรวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไป เราต้องเดินไปสู่การใช้ Blockchain ในการเจรจาติดต่อกัน การขายและการลงทุนอนาคต ประการที่สี่ก็จะต้องเน้นในการสร้างโมเดลการค้ารูปแบบใหม่ๆให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม เช่นในอนาคตอาจจะต้องนำทั้งหมด drop off ศูนย์รวม ศูนย์กระจายสินค้ามาใช้มากขึ้นรวมทั้งการเชื่อมระบบทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยไม่แยกส่วนก็จะเป็นโมเดลทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่ช่วยกันสองกระทรวงพัฒนาร่วมกัน
และประการสุดท้ายนิยามของพาณิชย์ทันสมัย ก็คือ เราจะต้องสามารถเดินหน้าไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่เราจับมือกับกระทรวงเกษตรให้ขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นด้วยกันสร้างแบรนด์ จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา หรือการสร้าง Trust Mark ให้เกิดขึ้นกับตลาดโลกทั้งโลกนี่คือนิยามของคำว่าพาณิชย์ทันสมัย
สำหรับช่องทางการตลาดที่จะนำสินค้าเกษตรไปขายให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเราจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ ตลาดในประเทศ ที่ว่าก็จะทีมเซลล์แมนจังหวัดเป็นกลไกสำคัญตลาดต่างประเทศก็จะมีทีมเซลล์แมนประเทศ ในการที่จะไปทำตลาดในต่างประเทศของโลก
ส่วนช่องทางการตลาดเราได้คุยกันระหว่างสองกระทรวงและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าอย่างน้อย 4 ช่องทางการตลาด
ช่องทางตลาดที่หนึ่งคือ ตลาดออฟไลน์ซึ่งถือว่าเป็นตลาดดั้งเดิมในตลาดรูปแบบเดิมที่เราได้ใช้มาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ยังสามารถพัฒนารูปแบบไปได้อีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องอยู่รูปแบบเดิม เพื่อนำไปสู่พาณิชย์ทันสมัย ประกอบด้วยโมเดิร์นเทรด สมาร์ทโชวห่วย ที่ผมมีนโยบายยกระดับโชวห่วยขึ้น เป็นสมาร์ทโชวห่วย มีการใช้เทคโนโลยีรูปแบบการบริหารจัดการเข้ามาช่วยภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้านธงฟ้าก็ยังถือเป็นช่องทางตลาดออฟไลน์ของเราอีกช่องทางหนึ่ง โมบายมาร์เก็ตที่ผมจะเป็นตลาดชั่วคราวที่ไม่จำเป็นต้องไปสร้างอาคารขนาดใหญ่ ก็คือตลาดชั่วคราว ตลาดเฉพาะกิจที่ต้องทำงานเชิงรุกของทีมเซลล์แมนจังหวัดในการเป็นช่องทางระบายสินค้าทางการเกษตร เช่น ต้องสนองความต้องการตลาด และระบายสินค้าเกษตรต้องทำที่หนึ่งสัปดาห์จบ ถ้าสินค้าหมด นี่ก็คือทิศทางของตลาดออฟไลน์ที่เรียกว่าโมบายมาร์เก็ต รถพุ่มพวงก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถสนองต่อความต้องการของตลาดออฟไลน์ได้ คาราวานสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ตลาดต่างๆไม่ว่าจะเป็นตลาดกลาง ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดต้องชม เป็นต้น นี่คือตลาดออฟไลน์
ตลาดที่สอง ก็คือ ตลาดออนไลน์ ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นตลาดออนไลน์นั้นจะต้องมีแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ และแพลตฟอร์มกลางเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ที่เราจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นและเป็นช่องทางระบายสินค้าเกษตรต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ช่องทางที่สาม การทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ซึ่งขณะนี้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญามีผลบังคับใช้แล้ว จะช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตมีหลักประกันว่า ถ้าลงนามในเกษตรพันธสัญญาแล้วเขามีหลักประกันเรื่องราคารับซื้อ ปริมาณการรับซื้อ โดยผู้ซื้อผู้บริโภคหรือจะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของ value chain ในภาคการผลิตสินค้าต่อเนื่องอย่างไร และจะเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรให้ความสำคัญร่วมกันมากขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ
ช่องทางสุดท้ายสี่คือการนำ counter trade มาใช้โดยการสร้างเวทีจับคู่การค้าการผลิตมาพบกันให้มากขึ้นในรูปของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือรูปแบบใดก็สุดแล้วแต่ ตามความเหมาะสมของแต่ละกรณีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นี่คือวิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสไทยทุกคน
“วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของวิสัยทัศน์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสไทยทุกคน ถัดจากนี้ไปทั้งสองกระทรวงและบุคลากรทั้งสองกระทรวงยังมีภารกิจที่จะต้องนำวิสัยทัศน์นี้ และหลักคิดนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจระดับกลางของผู้ประกอบการและระดับรวมในฐานะผู้ส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศและสร้างความหวังให้กับประเทศของเราต่อไป ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่รายละเอียดสุดท้ายเพราะนี่คือการเริ่มต้นเฉพาะความคิดของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรคิดว่าภาคส่วนอื่นๆควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแสดงความคิดเห็นช่วยสะท้อนมุมมองของภาคอื่นๆซึ่งกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ยินดีรับฟังและจะนำไปปรับต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติให้ได้จริงให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเป้าหมายการปรับปรุงถ้าจำเป็นต้องเกิดขึ้น ” นายจุรินทร์ กล่าววิสัยทัศน์