“อพท.” ส่ง 81ชุมชนชิงตลาดท่องเที่ยววิถีใหม่ ผนึกเครือข่ายเจาะกลุ่มรักธรรมชาติ–สุขภาพ
อพท. ชู 81 ชุมชน พร้อมรับนักท่องเที่ยวหลังพ้นโควิด-19 ด้วยรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ เล็งเพิ่มแนวทางการพัฒนาชุมชนด้วยการผสมการตลาด ใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นตัวกำหนดการเลือกรับนักท่องเที่ยว เผยปี 2563 ยังดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ สร้างท่องเที่ยวไทย “ยั่งยืน” เร่งศึกษาประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา สู่เมืองอารยธรรมวิถีชีวิตสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภาคใต้ เดินหน้าพัฒนา 4 เมืองเข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเข้าสู่ TOP 100 และเป้าหมายปี 2566 ดันถ้ำขุมน้ำนางนอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวจีโอปาร์ค
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เตรียมนำหลักการตลาดมาผสมกับแนวทางการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้ได้ผลลัพท์เป็นเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งแนวคิดดังกล่าว อพท. จะร่วมมือกับภาคีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดท่องเที่ยว เช่น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เข้ามาร่วมให้ความรู้แก่ชุมชน พัฒนาโดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนนั้นๆ เป็นตัวกำหนดว่าจะเหมาะรองรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มไหน เพราะจากนี้ไปพฤติกรรมการท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จะลดลงปรับเป็นท่องเที่ยวในกลุ่มขนาดเล็กเพื่อความปลอดภัย
กลุ่มแรกที่จะเดินทางท่องเที่ยวคือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่ง อพท. มี 81 ชุมชน ที่พัฒนาและพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ แบ่งเป็น 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ และอีก 67 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์ ในที่นี้ได้รวม 4 ชุมชนในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก 6 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 6 ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวต่อว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะร่วมมือกับ 1 สภา และ 6 สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) จัดส่งบุคลากรลงพื้นที่พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้กับ 40 ชุมชน ในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทาง โครงการดังกล่าว ยังมีการพัฒนานักสื่อความหมายท้องถิ่น โดยใช้มัคคุเทศก์อาชีพ มาเป็นวิทยากรให้การอบรมแก่ชุมชน เช่นกัน
ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญมี 2 ประเด็น คือ ได้เพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีรายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการตลาดท่องเที่ยว และความเชี่ยวชาญในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว และเมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติผู้ที่เป็นวิทยากร จะนำเส้นทางที่ตนเองได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ ไปเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว โดยโครงการนี้เป็นการนำร่องหากได้ผลตอบรับที่ดี ในปีต่อๆ ไป อพท. ก็จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมา
ยึดยุทธศาสตร์ชาติพัฒนาท่องเที่ยวไทยยั่งยืน
นายทวีพงษ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ อพท. ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนขับเคลื่อน อพท.ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562–2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งในปี 2563 อพท. ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) 3. ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี และ 4. การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา
การศึกษาและเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา จะครอบคลุมอำเภอใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เนื่องจากรัฐนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นในศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว จึงให้ อพท. ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีร่องรอยอารธรรมความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย มีความเป็นเมืองเก่า มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจและน่าฟื้นฟูให้เกิดความยั่งยืน เป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการของภาคใต้ โดยการศึกษาจะดำเนินการร่วมกับทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับอำเภอต่างๆที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และจะมีการจัดตั้งสำนักงาน อพท. เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา อพท. ยังไม่มีสำนักงานให้บริการในพื้นที่ภาคใต้และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณ 2564
ส่งแหล่งท่องเที่ยวชิง TOP 100 เวทีโลก
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่ TOP 100 นั้นเพื่อเป็นการรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว ในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะ TOP 100 เป็นรางวัล Sustainable Destinations Top100 ซึ่งจะประกาศและจัดพิธีมอบรางวัลที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB Berlin ประเทศเยอรมันนี สำหรับปี 2563 อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าวในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง
* ปั้น 4 พื้นที่ เข้าสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก*
ในการดำเนินการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เพื่อเสนอเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก้ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดน่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี โดยเตรียมเสนอต่อยูเนสโก้ในปีงบประมาณ 2564 และ อีก 2 เมือง เสนอในปี 2566 คือ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปในที่จะยื่นขอเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ประเภทศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือ เมืองแห่งอาหารถิ่น (Gastronomy) และพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะพัฒนาเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในภาคเหนือ เป้าหมายพัฒนาเป็นเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย
“สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงราย อพท. ยังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ศึกษาพัฒนาถ้ำขุนน้ำนางนอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark เป้าหมายสูงสุดคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลกตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ภายในปี 2568 แต่เบื้องต้นภายในปี 2564 จะพัฒนาขึ้นเป็นระดับจังหวัด และ ปี 2566 ขึ้นเป็นระดับประเทศ”
ขั้นตอนการศึกษาทั้งหมด จะดำเนินการร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ อพท. ให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ททช. ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยวที่จะรองรับนักท่องเที่ยวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal นอกจากชุมชนจะมีมาตรฐานตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโลก หรือ GSTC และมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand อพท. ได้พัฒนาบริการด้านการจ่ายเงินมี คิวอาร์โค้ต แทนการรับเงินสด
ล่าสุด อพท. ยังออกข้อปฏิบัติของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อสุขอนามัยปลอดภัยใส่ใจในสุขภาพ โดยเป็นข้อปฏิบัติ ที่ อพท. ร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานภาคการท่องเที่ยว ภาคีการท่องเที่ยว จัดทำขึ้นมา เพื่อให้การบริการด้านสุขอนามัย ในชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมานั้นสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่และยังสามารถยื่นขอมาตรฐาน SHA ได้อีกด้วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก-เฟซบุ๊ค อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน