สวทช.สนับสนุนผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาโคราชพัฒนานวัตกรรม ผ่านโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เยี่ยมชมผู้ประกอบการเครื่องปั่นดินเผาในโคราช ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP โดยมี ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผศ.ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มทส. เข้าเยี่ยมชม ซึ่งมี น.ส.ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ให้การต้อนรับ
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม SME มักจะเติบโตได้ช้า ด้วยความไม่พร้อมในหลายด้าน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทย์ส่วนใหญ่ที่ SME ไทยต้องการสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดเป็นต้น
สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP-ไอแทป) มามากกว่า 20 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือ SME ไทยอย่างรอบด้าน โดย ITAP มีภารกิจหลักคือ การรับโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงในโรงงาน ทำให้ SME ไทยซึ่งโดยมากไม่มีหน่วยวิจัยพัฒนาอยู่ในบริษัท สามารถนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการได้ ซึ่งทุกโครงการที่ทำงานกับอุตสาหกรรมจะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (Industrial Technology Advisor) หรือ ITA ช่วยดูแลบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้กับ SME แต่ละรายได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง โปรแกรม ITAP ยังเปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบการทุกวันทำการ เปิดตลอดปี
ปัจจุบัน ITAP มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศถึง 20 แห่ง โดย ITAP เครือข่าย มทส. เป็นหนึ่งในครอบครัว ITAP ที่ช่วยกันสนับสนุน SME ไทยให้เติบโตมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโปรแกรม ที่ผ่านมาโปรแกรม ITAP ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยมาแล้วมากกว่า 10,000 โครงการ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย โปรแกรม ITAP พร้อมช่วยสนับสนุน SME ไทยในการปรับตัวสู่ยุค New Normal ผู้ประกอบการที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถติดต่อเข้ามาใช้บริการโปรแกรม ITAP สวทช. ได้ทุกเครือข่ายทั่วประเทศไทย
ผศ.ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มทส. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ได้ให้ความช่วยเหลือห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ในด้านเป็นตัวกลางที่สำคัญในการประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และ ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับกลไกการให้ความช่วยเหลือจาก สวทช. ผ่านโปรแกรม ITAP นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่สำคัญในการลดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออันดีระว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการ
โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ สามารถพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนแบบใหม่ อันเป็นผลจากการผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัย จนได้เทคโนโลยีที่เหมาะกับการผลิตของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด รวมถึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ทั้งนี้ เกิดโครงการพัฒนานวัตกรรมให้ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาที่ทำงานร่วมกับโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ด้วยกันทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่
โครงการที่ 1 : การปรับปรุงกระบวนการเตรียมดินเพื่อลดปริมาณผลิตภัณฑ์ดินเผาที่เสียหายจากปัญหามลทินในดิน
โครงการที่ 2 : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการเปลี่ยนกระบวนการเผาจากเตาฟืนเป็นเตาแก๊ส
โครงการที่ 3 : การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา
โครงการที่ 4 : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ด่านเกวียนโดยการเปลี่ยนกระบวนการอบแห้งจากการผึ่งลมตามธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม
โครงการที่ 5 : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการปรับปรุงกระบวนการเผาผลิตภัณฑ์ด้วยเตาฟืน
สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาจะเป็นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นโดยยังคงเอกลักษณ์ของชุมชมดั้งเดิมเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นของที่มีขนาดใหญ่แต่มีราคาไม่สูงมากนั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กลงแต่มีมูลค่าที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับดินด่านเกวียนอันเป็นวัตถุดิบเฉพาะถิ่นที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเพื่อเป็นการยกระดับฝีมือให้กับช่างในชุมชนด่านเกวียน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้วางแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชมให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกาลังการผลิต เนื่องจากกาลังการผลิตส่วนหนึ่งมาจากช่างในชุมชนด่านเกวียน การพัฒนาและการให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
น.ส.ทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ กล่าวว่า “โคราช แสงสุวรรณ” เริ่มจากการทำเป็นอาชีพเสริม โดยการจัดหาสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาให้ตัวแทนที่รับไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง เมื่อเห็นแนวโน้มธุรกิจไปได้ดี จึงได้สร้างโรงงานเพื่อที่จะทำการส่งออกเอง ในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับด้านการตลาด คือการหาลูกค้า เราออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศทุกปี เป็นเวลา 20 ปี ในปี 2559 เราจึงพบว่าเรามีความมั่นคงทางด้านการตลาดมากพอที่จะมองถึงก้าวต่อไป นั่นคือ การพัฒนาในด้านการผลิต และเนื่องจากผู้บริหารทั้งหมด จบทางด้านบริหารธุรกิจ เราจึงต้องการที่ปรึกษาในด้านการผลิต จึงมีการหาข้อมูล และติดต่อไปที่ ITAP และนำมาสู่การติดต่อกับทางโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. โครงการที่ได้วิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นมีด้วยกันหลายโครงการ เนื่องจากมีการพัฒนารวมทั้งหมดของกระบวนการผลิต แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1. การเตรียมวัตถุดิบ (ดิน) 2. การอบชิ้นงาน และ 3. การเผาชิ้นงาน ผลที่ทางเราได้รับ ก็คือ การที่เรามีความรู้ในด้านการผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งนั่นสำคัญสำหรับก้าวต่อ ๆ ไป ของโคราช แสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผลตอบรับจากการพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงการ รวมถึงผลตอบรับทางการตลาด สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของภายใน นั่นคือ พนักงาน พนักงานมีความรู้และความเข้าใจในการทำงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับองค์กรในอนาคต และส่วนของภายนอก นั่นคือ ลูกค้า การที่ลูกค้าได้มาเห็นการพัฒนานวัตกรรมของ โคราช แสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ ส่งผลให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในองค์กร นำไปสู่การพูดคุยเพื่อนำนวัตกรรมไปพัฒนาสินค้าในหลายรายการ
สำหรับมุมมองต่อทิศทางหรือตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาทั้งในและต่างประเทศ เห็นว่า ในส่วนของประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผายังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก เพราะเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่นำไปตกแต่งสวน ไปจนถึงการนำไปใส่ตู้โชว์ ขณะที่ตลาดในต่างประเทศ ยังเป็นที่สนใจของลูกค้าจำนวนมาก ด้วยเอกลักษณ์ของงานทำมือ ที่สามารถสร้างความแตกต่างในด้านการตลาด และยังสามารถสร้างความยืดหยุ่นในแง่การผลิตได้ดีอีกด้วย
เยี่ยมชมโรงงานปั้นเผาและเอาท์เล็ต