“พุทธิพงษ์” ย้ำ “เฟซบุ๊ค” ให้เคารพความรู้สึกคนไทย กรณีเกิดข้อผิดพลาดผ่านไทยพีบีเอส
“พุทธิพงษ์” ย้ำ “เฟซบุ๊ค” ให้เคารพความรู้สึกคนไทย กรณีเกิดข้อผิดพลาดผ่านไทยพีบีเอส ล่าสุดตั้งคณะทำงานร่วมใหม่ลุยปราบเว็บผิดกม.เผยรอบ 7 เดือนแรกปีนี้ ลุยปิดเว็บตามคำสั่งศาลไปแล้ว 7,164 ยูอาร์แอล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรณีที่ระบบของเฟซบุ๊ก มีการแปลที่ทำให้เกิดคำไม่เหมาะสม และไม่ถูกต้องบนหน้าเพจไทยพีบีเอส (Thai PBS) ในระหว่างที่มีการดำเนินการถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญในหัวใจของคนไทยทุกคน ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อรับทราบจากทาง Thai PBS ทางกระทรวงได้เร่งประสานไปยังเฟซบุ๊คทันที และได้รับแจ้งว่าเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคของเฟซบุ๊ค และจะดำเนินการแก้ไข ซึ่งทางกระทรวงได้เตรียมการในการดำเนินการต่อ
แพลตฟอร์มใดก็ตามในต่างประเทศที่ให้บริการคนไทย ทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพกฎหมายไทย และให้เกียรติ และรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคนไทยและสิ่งที่ประเทศไทยยึดมั่นยึดถือด้วย สิ่งที่เกิดขึ้น กระทรวงได้ดำเนินการสื่อสารกับทางเฟซบุ๊คทันทีตั้งแต่เมื่อวาน และเมื่อเช้าก็ได้ส่งจดหมายไปยังเฟซบุ๊ค ทั้งประเทศไทยและทางสิงคโปร์เพื่อให้เฟซบุ๊คแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้อย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้อง ถือว่าผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเฟซบุ๊คได้นำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบ และมีผู้ร้องทุกข์คือ Thai PBS ก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อบริษัทเฟซบุ๊ค ตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ ต่อไป
และในเรื่องความมั่นคง เราใช้กระบวนการยุติธรรมในการขอความร่วมมือไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งทางยูทู้ปได้ดำเนินการตามที่ขอประมาณ 90% แต่เฟซบุ๊คดำเนินการเพียง 28% ส่งไป 4,676 เรื่อง ทางเฟซบุ๊คดำเนินการไป 1,316 เรื่อง จึงต้องสื่อสารยังเฟซบุ๊คว่า เมื่อดำเนินการในเมืองไทยก็อยากให้ให้ความร่วมมือในการให้ความเคารพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมไทย นอกจากทำจดหมายไปขอให้ทางเฟซบุ๊คแสดงความรับผิดชอบแล้ว ยังขอความร่วมมือในเรื่องการขอให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป
เรื่อง Thai PBS ซึ่งทางกระทรวงได้ดำเนินการ แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ซึ่งเราต้องดำเนินตามกระบวนการโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพใคร ไม่ใช่การปัดภาระ แต่ดำเนินการตามกระบวนการ และหลายๆ เรื่องก็เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ การไปปิด บล็อก จึงไม่สามารถทำได้ทันที แต่อะไรที่เข้าข่ายผิดตามกฎหมายก็ได้ดำเนินการ และได้ดำเนินการตั้งคณะทำงาน ร่วมกับทาง ISP ในการดำเนินการกับข้อมูลที่ผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ โดยทำให้คณะทำงานมีความกระชับมากขึ้น ทำให้ ISP ดำเนินการตามหมายศาลได้อย่างชัดเจน ต่อเนื่อง มีตัวเลขที่ติดตามและเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบได้ วันนี้จึงขอความกรุณาสื่อมวลชนช่วยสื่อสารว่าขั้นตอนในการดำเนินการมีอยู่ และไม่ช้า สามารถดำเนินการส่งถึงศาลได้ภายใน 3 วัน ซึ่งเราก็นำคำสั่งศาลไปส่งให้ทั้ง ทาง ปอท. ISP และตัวแฟลตฟอร์มเองทันที
โดยในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และประสานงานร่วมกับไอเอสพี จนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหรือลบข้อมูลในเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้ว จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล (ขัอมูล ณ วันที่ 23 ก.ค.2563) จากจำนวนที่กระทรวงฯ ได้รับแจ้งทั้งสิ้น 8,715 ยูอาร์แอล และมีการส่งศาล 7,164 ยูอาร์แอล
สำหรับการกระทำผิดส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูลจากการแจ้งข้อมูลเข้ามา พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ และมีช่องทางอื่นๆ บ้าง ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้กับ บก.ปอท. จำนวน 7,164 ยูอาร์แอล พร้อมพยาน หลักฐาน และคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เห็นความสำคัญว่าต้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน เพื่อร่วมช่วยกันสอดส่องดูแลเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ที่มีการกระทำผิดกฎหมายทางออนไลน์ หรือผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ล่าสุดจึงได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก “อาสา จับตา ออนไลน์” เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชม. และพิจารณาตามข้อกฎหมายและตอบกลับ และอีกช่องทางหนึ่งคือ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141 6747