วช. จับมือ มหาวิทยาลัยเกริก สนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ร่วมลงนามใน MOU ว่าด้วยการประสานความร่วมมือสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ มหาวิทยาลัยเกริก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ เวที Highlight Stage มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๓ Thailand Research Expo ๒๐๒๐ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติหรือวช. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ๆ ด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงดำเนินการภายใต้แผนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ CBR (Community-Based Research: CBR) ซึ่งเป็นอีกโครงการที่วช.ให้ความสำคัญในอันที่จะให้เกิดโครงการเพื่อบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างกลไกรับใช้คนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น รวมถึงภาคีเครือข่ายการวิจัย การยกระดับผลิตภัณฑ์ สู่การจัดการของท้องถิ่น สู่การใช้ประโยชน์และการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในการแก้ปัญหา การพึ่งพาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงการเรียนรู้ควบคุมสถานการณ์ การถอดบทเรียนในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเป้าหมายเรื่องของความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งกลไกดังกล่าวได้ใช้กลไกทั้ง 4 ภูมิภาคผ่านศูนย์การประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Node) ซึ่งขณะนี้มีโครงการภายใต้การบริหารจัดการร่วม 200 โครงการ สำหรับโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกริกเป็นหนึ่งในโครงการที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้
ทั้งนี้วช. จะให้การสนับสนุนงบประมาณหลักในด้านการบริหารจัดการในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย การติดตามโครงการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ตามความเหมาะสม และสนับสนุนทุนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ จะสามารถส่งผลให้เกิดนักวิจัยวิชาการและนักวิจัยชาวบ้าน ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกิดศูนย์ประสานงาน และศูนย์เรียนรู้ นำไปสู่การเกิดชุมชนนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบในการเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาชุมชนในประเด็นต่าง ๆ ให้กับชุมชนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สำหรับมหาวิทยาลัยเกริก ได้กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งเน้นที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และการบริหารจัดการโดยมีพันธกิจหลักใน 4 ด้านได้แก่ 1.การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 2.ส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ 3.การให้บริการวิชาการที่ทันสมัยเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการผู้รับบริการและสังคม 4.ส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น และตระหนักว่า การมียุทธศาสตร์ดังกล่าวจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพและมีผลงานด้านวิชาการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านวิชาการ และการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับปริบทและสถานการณ์สังคมปัจจุบัน
รวมทั้งมีจำเป็นที่จะต้องประสานความร่วมมือด้านการวิจัยกับหน่วยงานด้านวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกริกได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี 2555-2562 ในลักษณะของการร่วมสนับสนุนงานและสนุนสนุนทุนด้านการวิจัย ซึ่งทิศทางและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกริกสอดคล้องกับกับพันธกิจสกว. ความร่วมมือของทั้งสององค์กรจะยังประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นได้
ความร่วมมือกันดังกล่าวก่อให้เกิด 1. โครงการวิจัยที่นักวิจัยทำงานร่วมกับชาวบ้านทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 4 เขตบางเขต หลักสี่ สายไหมและดอนเมือง กรุงเทพมหานคตและได้ขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 15 โครงการ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีทางออก ทางเลือกในการจัดการปัญหาพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม 2.การจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชุมชนและสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญ ในการพัฒนางานวิจัยเวชการรับใช้สังคมเขตเมืองในระยะต่อไป
และเพื่อให้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกิดการยกระดับองค์ความรู้สู่การขยายผลในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ล่าสุด โดยสนับสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยทำงานภายใต้เป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นบนฐานทุนทางสังคม ภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในขอบเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ทั้งนี้ความร่วมมือในครั้งนี้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาใน 6 ด้านคือ 1. เกิดนักวิจัยวิชาการและนักวิจัยชาวบ้านทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 2.เกิดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและพื้นที่วิจัย เกิดทางออกทางเลือกในการแก้ไขในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
3.เกิดการทำงานบูรณาการการทำงานร่วมกันของสถาบันศึกษา องค์กร ภาครัฐและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมชุมชนเขตเมือง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 4.เกิดศูนย์ประสานงานในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภายในมหาวิทยาลัยเกริก เครือข่าย สถาบันการศึกษา องค์กร ภาคี และเครือข่ายที่เกี่ยวที่สามารถตอบสนองเครือข่ายที่คาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5.เกิดศูนย์เรียนรู้วิจัยและนวัตกรรมภายในมหาวิทยาลัยเกริกและชุมชนพื้นที่วิจัย และ 6.เกิดชุมชนนวัตกรรม ที่สามารถเป็นต้นแบบในทางเรียนรู้ในการแก้ปัญหาชุมชนในประเด็นต่าง ๆให้กับชุมชนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน