สทน.-กรมศิลปากรสานต่อความร่วมมืออีก 5ปี เทคโนโลยีนิวเคลียร์สนับสนุนงานโบราณคดีชาติบรรลุเป้า
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ สทน. โดยรศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติหรือสทน. และกรมศิลปากร โดยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับที่ 2 สานต่อความร่วมมืออีกเป็นเวลา 5 ปี หลังจากความร่วมมือครั้งที่ 1 ประสบความสำเร็จบรรลุเป้า
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้ร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อร่วมศึกษา วิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยมีผลงานความทุ่มเทของบุคลากรทั้งด้านการวิจัย พัฒนา การสำรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่โบราณสถานอย่างน่าสนใจ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีในปัจจุบันมาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นในปีงบประมาณ 2561 คณะทำงานดำเนินการตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้ง 2 หน่วยงานได้ มีมติเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาความร่วมมือต่อไป โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดความร่วมมืออย่างมีนัยสำคัญและดำเนินการยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับที่ 2 ขึ้นและกำหนดจัดพิธีลงนามในวันนี้
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า กรมศิลปากรและสทน. มีความตั้งใจทำความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรทั้ง 2 ฝ่ายและจะร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัตลักษณ์โบราณวัตถุชิ้นพิเศษและองค์ประกอบทางเคมีของโบราณวัตถุและวัสดุเพื่องานอนุรักษ์ การศึกษาระบบการจัดการน้ำในอดีตของชุมชนโบราณ การวิเคราะห์ตัวอย่างจากการขุดค้นเพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาโครงสร้างภายในวัตถุโดยใช้รังสี เป็นต้น ซึ่งจะพิจารณาตกลงในวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับโครงการ กิจกรรมและแบ่งมอบความรับผิดชอบต่อไป
“กรมศิลปากรขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติที่ให้การสนับสนุนภารกิจกรมศิลปากรมาด้วยดีมาโดยตลอดและมีความยินดีอย่างยิ่งที่สถาบันได้ก้าวเข้ามาเป็นทีมที่ทรงพลังและให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อร่วมกันค้นหาและส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้รับแก่สาธารณชนต่อไป”
ด้านรศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสนท. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับงานโบราณคดีตลอดระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญร่วมกันนั่นคือ การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ สามารถสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของชาติไทยในอีกมิติหนึ่งผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับสากล
โดยปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจหาอายุของโบราณวัตถุเพราะเป็นเทคนิคที่ไม่ทำลายตัวอย่างหรือใช้ตัวอย่างในปริมาณที่น้อยมาก สทน.จัดตั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปรังสีและใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อตรวจวิเคราะห์หาอายุโบราณวัตถุมากว่า 10 ปี สำหรับเทคนิคที่สทน.ใช้ในการวิเคราะห์มี 2 แบบ คือ การวิเคราะห์โดยอาศัยคาร์บอน-14(C-14 dating) และการวิเคราะห์อายุโดยการเรืองแสงความร้อน(TL/OSL dating)
รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวต่อว่า ในกรอบเวลา 5 ปีมีการกำหนดกิจกรรมทำร่วมกันในด้านการวิจัยและพัฒนา,การสำรวจ วิเคราะห์และเก็บตัวอย่างและการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งในการร่วมมือครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการหลายอย่าง เช่น ได้ร่วมวิจัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาจ.พระนครศรีอยุธยา ในการวิเคราะห์ทองคำโบราณจากกรุวัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทองคำโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา และโครงการนี้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ทองหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาลูกปัดโบราณ การวิเคราะห์พระพุทธรูปสำริดสมัยในต่าง ๆ ,การศึกษาองค์ประกอบของปูนปั้นโบราณเทียบเคียงกับแผ่นจารึก การวิเคราะห์โครงสร้างภายในของวัตถุด้วยรังสี การศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและระดับน้ำทะเลในอดีตร่วมกับ ANSTO และโครงการนวัตกรรมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี
“ผลของการมุ่งมั่น ทุ่มเทของบุคลากรทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดี ทำให้ค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เช่น เทคโนโลยีการผลิตเครื่องประดับโบราณ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในอดีตผ่านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในเครื่องมือแพทย์ มาใช้ฆ่าเชื้อ หรืออนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุให้อยู่ในสภาพดี เป็นมรดกทางวัฒนธรรมส่งต่ออนุชนรุ่นหลังต่อไป
สำหรับการร่วมมือครั้งที่ 2 อีก 5 ปี ทั้ง2ฝ่ายจะประสานความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับความรู้และขีดความสามารถของบุคลากรทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อมาใช้สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ฟื้นฟูและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ โดยตกลงร่วมกันในการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจนบรรลุผลสำเร็จ”
รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวในตอนท้ายว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาช่วยในการศึกษาโบราณวัตถุ ทำให้เราไม่ต้องส่งชิ้นส่วนของโบราณวัตถุไปตรวจสอบอายุในต่างประเทศ แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้เองในประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์ก็มีความถูกต้องแม่นยำ อีกทั้งห้องปฏิบัติการไอโซโทปของสทน.ยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA) และได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จำนวนมากจาก IAEA ด้วย สทน.มีการพัฒนาตลอดเวลา เชื่อว่า ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีสทน. มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้