สวทช. เปิดตัวเยาวชนทุน JSTP รุ่น 22 - JSTP-SCB รุ่น 1-2 ปูเส้นทางอนาคตสู่นักวิทย์-นักเทคโนฯ- นักวิจัย
สวทช. เปิดตัวเยาวชนทุน JSTP รุ่น 22 และ JSTP-SCB รุ่น 1-2 ปูเส้นทางอนาคตสู่นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนฯ และนักวิจัย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (9 ส.ค. 63) ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย เปิดตัวพร้อมปฐมนิเทศและแสดงความยินดีแก่เยาวชนนักเรียนนักศึกษาผู้ได้รับทุน JSTP รุ่นที่ 22 จำนวน 18 คน และทุน JSTP-SCB รุ่นที่ 1-2 จำนวน 10 คน รวม 28 คน เพื่อมุ่งผลักดันเยาวชนเข้าสู่อาชีพวิจัย โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนทำวิจัย รวมถึงโอกาสฝึกทักษะวิจัยกับนักวิจัย สวทช. หรือตามสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ตลอดจนประสบการณ์เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เป็นการสร้างอนาคตของชาติ เพื่อก้าวเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยต่อไป
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ “JSTP” (Junior Science Talent Project) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนากำลังคนของ สวทช. ที่เฟ้นหาและคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และปริญญาตรี เข้ามารับการส่งเสริมและพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน โดยจัดหานักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้แนะนำและดูแล เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก เพื่อพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย ที่มีคุณภาพและมีจริยธรรมต่อไปในอนาคต
ขณะที่ โครงการการสนับสนุนนักเรียนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรับการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่อาชีพวิจัย ภายใต้การสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “JSTP-SCB” เป็นโครงการที่ขยายผลจากโครงการ JSTP ซึ่งได้คัดเลือกเยาวชนมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งทางธนาคารฯ เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมเยาวชน โดยอาศัยแนวทางบ่มเพาะด้วยระบบนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ตามแนวทางของ JSTP เพื่อผลักดันให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยชั้นนำ
ซึ่งทั้ง 2 ทุน มุ่งที่จะผลักดันเยาวชนเข้าสู่อาชีพวิจัย โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษา และทุนทำวิจัย รวมถึงการเข้าฝึกทักษะวิจัยกับนักวิจัย สวทช. และอาจารย์หรือนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ เช่น กิจกรรมค่าย การอบรมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น
“เยาวชน JSTP รุ่นที่ 22 มีการคัดเลือกจากใบสมัครทั่วประเทศ จากนั้นมีการสัมภาษณ์ และเข้าร่วมโครงการระยะสั้น เป็นเวลา 1 ปี เยาวชนจะได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง โดยได้คัดเลือกเข้ารับทุนระยะยาว จำนวน 18 คน ส่วนเยาวชน JSTP-SCB รุ่นที่ 1-2 คัดเลือกรุ่นละ 5 คน รวมเป็น 10 คน โดยคัดเลือกจากเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษจากโครงการต่าง ๆ ของ สวทช. เช่น โครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) เป็นต้น” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการ สวทช. รวมถึงในฐานะผู้ก่อตั้ง JSTP กล่าวเสริมว่า สวทช. ได้จัดตั้งโครงการ JSTP ขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เป็นโครงการที่มีเป้าหมายจะสร้างคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นนักวิจัย หรือประกอบอาชีพใดที่เกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผ่านมามี JSTP รุ่นพี่ ๆ ที่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการรับใช้ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและทั่วโลกจำนวนมาก รวมถึงนับเป็นโอกาสอันดีที่โครงการ JSTP ได้มีการขยายตัวขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ JSTP-SCB ซึ่งจะให้ทุนและให้การสนับสนุนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ขนานไปกับโครงการ JSTP ที่จะให้การสนับสนุนนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เป็นโครงการระยะยาว เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ
ด้านตัวแทนเยาวชนผู้ได้รับทุน JSTP#22 ด.ช.ปิตุภูมิ ชัยเจริญวรรณ หรือนโม นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง Air4All – Air Purifier with Permanent and Reusable เปิดเผยว่า โครงงานที่ทำ คือ เครื่องฟอกอากาศแบบถาวรและใช้ซ้ำได้ เป็นการศึกษาในเรื่องประเภทของผ้าแต่ละชนิดที่คนทั่วไปสามารถหาได้ มาทำวิจัยว่า ผ้าประเภทใดมีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้ดีที่สุดในราคาที่ต่ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถหามาใช้งานง่าย ใช้ได้จริง และมีประโยชน์ โดยที่สนใจทำโครงงานเรื่องนี้ เพราะตัวผมเองชอบในด้าน Health Tech หรือนวัตกรรมสุขภาพ และอยากให้เกิดการใช้งานจริง ๆ ในสังคม ส่วนตัวแทนเยาวชนชั้น ม.ปลาย นายภูวพัศ เทียมจรรยา หรือกอล์ฟ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การพัฒนาเซนเซอร์ชนิดพอลิไดอะเซทิลีนสำหรับการตรวจจับฟอร์มาลดีไฮด์ เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้รับทุน JSTP ว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะการได้รับทุน JSTP จะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผมต่อไปยังสาขาวิชาอาชีพที่ผมอยากจะดำเนินในอนาคตได้ คือ ด้านวิทยาศาสตร์ อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สาขาเคมี โดยอยากจะทั้งสอนด้วยและทำวิจัยด้วย ซึ่งโครงงานที่ทำนี้เป็นการศึกษาการสังเคราะห์ของพอลิเมอร์ที่เปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงได้ เมื่อมีการตรวจพบฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการรักษาสภาพเนื้อเยื่อ แต่ผู้ค้าบางรายนำสารนี้มาใช้รักษาสภาพอาหารสด แต่ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้น โครงงานนี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำเซนเซอร์ไปใช้ในการทดสอบก่อนว่าอาหารแต่ละอย่างที่ซื้อมามีการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือไหม หากมีจะได้หลีกเลี่ยง หากไม่มีจะได้บริโภคอย่างปลอดภัย
และอีกหนึ่งเยาวชนระดับปริญญาตรีที่ได้รับทุน JSTP-SCB#1 น.ส.จิลมิกา ระเริง หรือพลอย นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพการเป็นสารหน่วงไฟของเคราตินที่สกัดจากเส้นผม เพื่อเพิ่มสมบัติการทนไฟของผ้าฝ้าย เล่าถึงโครงงานที่ทำว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับเส้นผม ย้อนไปสมัยมัธยมที่เราต้องตัดผมตลอด เห็นว่าผมสั้น ๆ มันทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ส่วนผมยาวสามารถนำไปทำวิกได้ เหตุนี้จึงสนใจศึกษาในเรื่องเคราติน ว่ามันทนความร้อนได้ และถ้าเราสกัดเคราตินจากเส้นผมที่คนเราทิ้ง ๆ ไป เอามาใช้ ทำให้ผ้ามันทนความร้อนได้มากขึ้น มันจะเหมาะสมหรือเปล่า ด้วยการค้นหาสภาวะ (condition) ที่ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับจะอัดเข้าไปกับผ้า ทำให้ผ้าที่ได้มีสีเข้มขึ้นตามสีความเข้มของเคราติน ซึ่งโครงงานนี้ยังต้องพัฒนาต่อยอดต่อไป และสำหรับเป้าหมายในอนาคต ด้วยความที่ตนสนใจด้านเกษตร อาจจะเป็นในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพกับทางด้านเกษตร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ทำให้ภาคเกษตรของไทยที่เป็นจุดแข็งของประเทศมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น