กสอ.เดินหน้าปั้นหลักสูตรเดอะจีเนียสเกษตรอุตสาหกรรม สร้างแพล็ตฟอร์มพัฒนาเชิงลึกค้นหาศักยภาพธุรกิจใหม่
กสอ. ปั้นหลักสูตร Genius the Creation เสริมศักยภาพเกษตรอุตสาหกรรมทรานฟอร์ม สร้างธุรกิจโมเดลใหม่ ดึงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Model) ผสานการใช้งาน (Functional Model) ปรับรูปแบบธุรกิจ โดยหลักสูตรฯ โค้ชและผู้ประกอบการออกแบบได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งเป้าขยายผลสร้างผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เปิดบ้านรับผู้อบรม 42 กิจการ ผ่านความสำเร็จ จากฟาร์มโชคชัย ศึกษาค้นหาไอเดียวางแนวทางต่อยอดกิจการเฟ้นหาศักยภาพที่แท้จริง
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสอ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จีเนียส เดอะ ครีเอชั่น (Genius the Creation) ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นหลักสูตรภายใต้ Genius Academy ที่ กสอ. ได้การดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง 3-4 ปี มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ใน 3 ด้านอันได้แก่ (1) เศรษฐกิจฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น (3) เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน
“โครงการนี้ถือเป็นโครงการหนึ่งในหลักสูตร Genius Academy มีจุดเด่นในการใช้อัจฉริยะโค้ชมาสอนให้ผู้ประกอบการเป็นอัจฉริยะ โดยอัจฉริยะโค้ชที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เชิญมาโค้ชผู้ประกอบการล้วนเป็นโค้ชที่มีการยอมรับในธุรกิจนั้นๆ มีความสำเร็จในด้านนั้นที่แท้จริง เพื่อเป็นทางลัดของผู้ประกอบการในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าโครงการมีจำนวนหลักร้อย ผ่านกระบวนการคัดมาติวเข้มให้เหลือ 100 ราย และมาถึงวันนี้ คือ ห้วงที่สองของการอบรม เหลือเพียง 42 รายจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ (1) แปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม (2) เกษตรอินทรีย์ (3) เกษตรท่องเที่ยว” นายณัฐพลกล่าว
ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการ Genius the Creation มุ่งเน้น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมมืออาชีพ 2. การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจและสอดรับกับความต้องการของตลาด และ 3.วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ ที่จะเฟ้นหาศักยภาพภายในตัวผู้ประกอบการออกมาเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมภายหลังจากการผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ผ่านโค้ชผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ประสบความสำเร็จ
“ในวันนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้นำผู้ประกอบการทั้ง 42 ราย มาเรียนรู้การพัฒนากลยุทธ์เกษตรอุตสาหกรรมจากหนึ่งในอัจฉริยะโค้ชของโครงการฯ คือ คุณโชค บูลกูล เจ้าของฟาร์มโชคชัย ผ่านมุมมองในการเรียนรู้จากคุณโชคฯ ครั้งนี้ ที่ได้เน้นในเรื่อง (1) การประกอบเกษตรอุตสาหกรรมต้องเท่ห์ (Brand Image) เค้าต้องมีความภูมิใจในการเป็นเกษตรอุตสาหกรรม (2) เกษตรคุณภาพ (Quality Agriculture) จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่หายากเมื่อมีความต้องการซื้อ ผู้ซื้อต้องสั่งจอง ทำให้เราสามารถกำหนดราคาเหนือราคาตลาดได้ และ (3) เกษตรแม่นยำสูง (Precision Farm) เป็นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการควบคุมเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์ ดาวเทียม และโดรน มาบริหารจัดการในไร่ฟาร์มเพื่อวิเคราะห์แปลงผลผลิตในแปลงเกษตรประสิทธิภาพสูง และการใช้เทคโนโลยีควบคุมสภาพอากาศ แสงสว่าง การให้อาหาร การฆ่าเชื้อ ในปศุสัตว์” นายณัฐพลกล่าว
ภายหลังจากวันนี้ จะมีการพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง 42 รายอย่างเข้มข้น และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การตลาดทั้ง 42 ราย และจะคัดให้เหลือ 10 ราย ที่โครงการ Genius the Creation จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ฟรี และจะต่อยอดคัดเลือกให้เหลือ 4 กิจการสุดยอดให้เป็น Best of the Best เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโมเดลในการขยายผลไปยังเกษตรอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากซูปเปอร์โค้ช-วิทยากร ชื่อดังระดับโลกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ นอกเหนือจากซุปเปอร์โค้ชชั้นนำด้านฟาร์มเกษตร โค้ชโชค – โชค บูลกูล แห่งฟาร์มโชคชัย แล้วยังมี โค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอด คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักวางวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับ และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมท์ ดีไซน์ จำกัด สุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลระดับโลก การันตีถึง 78 รางวัล ที่จะให้ความรู้ในหลักสูตรดังกล่าวด้วย
“โครงการนี้ถือเป็นหลักสูตรแรกของธุรกิจการเกษตรไทยที่มุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรของไทยให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับพรีเมียมที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยดึงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Model) นำในการพัฒนาธุรกิจ ผสมผสานกับการหน้าที่การใช้งาน (Functional Model) ซึ่งเกษตรอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาจากโครงการนี้ จะเป็นหัวขบวนในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน ให้ธุรกิจเกษตรของไทยอยู่รอดและมีความยั่งยืน ตามแนวนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” นายณัฐพลกล่าว
ด้านโค้ชโชค – โชค บูลกูล แห่งฟาร์มโชคชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกตอนนี้เราต้องคิดไปอีกก้าว เราอาจจะไม่ต้องผลิตให้มากที่สุด แต่เราต้องผลิตให้สินค้าต้องมีเสน่ห์ หรือใช้คำว่าถ้าเป็นเกษตรกรรายเล็กรายย่อยต้องเป็นเล็กพริกขี้หนู เหมือนฟาร์มโชคชัย เป็นโมเดลที่ไม่ใช่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ที่คนอยากรู้จักเรา ๆเป็นความแตกต่าง จึงอยากให้เกษตรกรหาตัวเองให้เจอ และงานที่จะให้ความรู้ว่าทำอย่างไร เป็นสิ่งที่อยากสนับสนุน
ทั้งนี้เรื่องเกษตรกรรม ต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ให้ดี เหมือนการทำธุรกิจว่า ใครควรปลูกอะไร ปลูกแค่ไหน ปลูกแล้วมีความแตกต่างโดดเด่นอย่างไร ปลูกแล้วจะขายใคร ซึ่งต้องคิดคำนวนให้จบครบ อย่าคิดในเชิงปริมาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวงจรเกษตรที่มีผลผลิตมากเกินความต้องการ ทำให้ราคาตก ขาดทุนหรือผลผลิตไม่พอขาย
ซึ่งมีโมเดลบางประเทศทำการเกษตร ที่เรียกว่าคนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน อย่างซื้อองุ่นพวงละ 1,000 บาท เพคเกจจิ้งสวยงามเพราะยุทธศาสตร์ของเขาคือ ให้สินค้าเกษตรมีมูลค่า ผมหมายถึงตรงนี้คือ แนวที่เราควรคิดถึง ไม่เช่นนั้นเราจะมองสินค้าการเกษตรเชิงปริมาณอย่างเดียว
ส่วนโอกาสการก้าวสู่เกษตรเชิงท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น โค้ชโชคกล่าวว่า ก้าวต่อไปมันต้องเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยจากเหตุผลด้านภูมิศาสตร์และตนเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ของชาติ ประเทศไทยจะอยู่ได้ต่อไป สิ่งที่จะทำให้ประเทศมีคนรู้จักเรา นอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นอยู่และวงการสาธารณสุขที่สร้างชื่อให้เราขณะนี้ แต่ตนคิดว่ามันหนีไม่พ้นในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศเราที่เป็นภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษของเรา นั่นคือเรื่องของเกษตรกรรม ส่วนจะไปต่อยอดอย่างไรนั้น มีกระบวนการความคิดที่น่าจะต้องระดมความคิดกัน คิดว่า เกษตรกรประเภทนี้ด้วยคาเรคเตอร์อย่างนี้ เขาควรทำอย่างไร บางคนอาจจะเป็นประเภทนี้ด้วยภูมิศาสตร์ ด้วยโลเคชั่นที่เขาอยู่ ตนเห็นด้วยว่าน่าจะไปด้วยเรื่องการท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องทำท่องเที่ยว โดยชี้ว่า การหาเวลูครีเอชั่นใหม่ให้กับเกษตรกรมีเรื่องของความเข้าใจในการวางยุทธศาสตร์และให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย