สสว.-สถาบันอาหาร เร่งอัดฉีด SMEs จาก 2 โครงการใหญ่ หนุนกิจกรรมทดสอบตลาด-จับคู่ธุรกิจในงาน “ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต” ณ ไอคอนสยาม 28–30ส.ค.นี้
สสว. จับมือสถาบันอาหาร จัดกิจกรรมทดสอบตลาดและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ผนึก 2 โครงการใหญ่ไว้ในงานเดียว นำทัพผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต 23 กิจการ จาก 8 จังหวัดภาคอีสาน ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหารอีก 31 กิจการ ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 20 คู่ สร้างมูลค่าการซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในงานจำหน่ายสินค้าระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2563 ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผยว่า สสว.ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่(Early Stage) ปี 2563 ในการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ซึ่ง สสว.ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความแข็งแรงในการจัดตั้งธุรกิจให้ยั่งยืนได้ในระยะยาว และได้คัดเลือกผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคตหรือ Future Food ได้แก่ อาหารเกษตรอินทรีย์และออร์แกนิค อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ และอาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ทางนวัตกรรม ให้เข้าร่วมจำนวน 600 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และยโสธร
ทั้งนี้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาแนวคิดในการสร้างธุรกิจ จำนวน 600 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับการปรึกษาแนะนำเชิงลึก สามารถทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือยอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือมีแนวคิดในการทำธุรกิจ รวมจำนวน 220 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 24 ล้านบาท
“โครงการฯ มุ่งเน้นในการพัฒนาและผลักดันให้ผู้ประกอบการใหม่ค้นหาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ นำมาแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารอนาคต หรือ Future Food ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย โดยในการจัดงานครั้งนี้ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์เข้าร่วมงานรวม 23 กิจการ เช่น น้ำมันรำข้าวออแกนิกส์ จากจ.ศรีสะเกษ ชาใบข้าวออร์แกนิก จากจ.ร้อยเอ็ด และข้าวถั่วงา จากจ.ยโสธร เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นการพัฒนาตามความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ในบางผลิตภัณฑ์จึงยังเป็นการพัฒนาขั้นต้น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถผู้ประกอบการแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสทางการตลาด มีความสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น เช่น การใช้น้ำมันรำข้าวออร์แกนิก จากจ.ศรีสะเกษ ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด มารวมกับ งาดำออร์แกนิก จากจ.ยโสธร ที่มีสรรพคุณ บรรเทาอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อเสริมคุณค่าในการดูแลสุขภาพมากขึ้นในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Food ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้อีกแนวทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเกษตรอินทรีย์(Organic Food) ที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ทางสสว.ก็จะได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการในปีต่อๆไป”
ผอ.สสว. เผยอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล(Product Development) ปี 2563 มีแนวคิดในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจในภาคการผลิตและภาคบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ โดยการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นชุมชนให้ยังคงมีวัฒนธรรมท้องถิ่น ยกระดับผู้ประกอบการภาคการค้าและภาคบริการให้สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรมตรงตามความต้องการของตลาด ภายใต้แนวคิด “Gastronomy Tourism (การท่องเที่ยวเชิงอาหาร)”
“ในปี 2563 สสว.มีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Industry) ได้แก่ กลุ่มอาหารและท่องเที่ยว กลุ่ม Digital Content และกลุ่ม Health care service จำนวน 250 กิจการ ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี มีจุดเด่นเรื่องสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดพัทลุง มีจุดเด่นเรื่องข้าวสังข์หยด และการท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติ และจังหวัดสงขลา อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ มีจุดเด่นเรื่องตาลโตนด เป็นต้น ที่มาร่วมออกบูธในครั้งนี้มีจำนวน 31 กิจการ นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายหลากหลายชนิด เช่น ไข่เค็มสมุนไพรพอกใบเตย โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหนองไฮ และโคมไฟสานจากสุ่มไก่แม่หมูบิน โดยวิสาหกิจชุมชนสุ่มไก่แม่หมูบิน จากจ.ปราจีนบุรี ข้าวกล้องสังข์หยดแห้งชงดื่ม โดยวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือควนปอม และชาดอกกาแฟอาราบิก้าภาคใต้ โดยวิสาหกิจชุมชนไร่กาแฟภูบรรทัด จากจ.พัทลุง นวดแผนไทย/ยาสมุนไพร/สบู่ลูกโหนด/กระเป๋าสาน โดยวิสาหกิจชุมชนชาสมุนไพร และไข่ครอบแฝดสยาม/กุ้งต้มน้ำผึ้ง/ปลากรอบขมิ้น โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทะเลสาบสงขลา จากจ.สงขลา เป็นต้น”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดและเจรจาจับคู่ธุรกิจ(Business Matching) ภายในงาน ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2563 ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ชั้น G ในครั้งนี้ สสว.คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจรวมกันไม่น้อยกว่า 20 คู่ และเกิดมูลค่าคำสั่งซื้อรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการฯได้คัดเลือกสินค้าที่ผ่านการยกระดับทั้งในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์มาร่วมออกบูธรวม 54 กิจการ
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานเป็นที่ปรึกษา 2 โครงการฯ ดังกล่าว โดยจัดหาวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา สำหรับให้ความรู้และให้คำแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับองค์ความรู้ผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบการเกษตรได้สูงสุด
“สถาบันอาหารให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารถิ่นของตนเองสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดอาหารอนาคต หรือ Future Food เนื่องจากทุกวันนี้ผู้คนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น SME ควรใช้จุดแข็งที่มีความคล่องตัว และปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วเข้าสู่ตลาดนี้ เช่น อาหารสร้างภูมิต้านทานโรค อาหารเพื่อการชะลอวัย อาหารสำหรับผู้สูงอายุหรือทารก
นอกจากนี้ ยังมีอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคต่างๆ อย่างโรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตับ คอเลสเตอรอลสูง ฯลฯ เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำ ปราศจากน้ำตาล เป็นต้น โดยควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับทั้งด้านสุขภาพ และบริโภคได้โดยสะดวก เป็นสินค้ากลุ่ม Ready to eat, Ready to cook ที่พร้อมรับประทาน พร้อมปรุง ผู้ประกอบการควรลองนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่า ใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยถนอมอาหาร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีความสวยงาม มีข้อมูลโภชนาการครบถ้วน แข็งแรงแน่นหนาพอสมควร เวลาขนส่งไปไหน กล่องต้องไม่บุบ และรักษาสภาพอาหารข้างในไว้ได้ และอาจต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแพ็กใหญ่ เพราะผู้บริโภคคงไม่ได้ออกมานอกบ้านบ่อยๆ เหมือนสมัยก่อน”