สนง.ราชบัณฑิตยสภาจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ “รู้ทันสีสันภาษาสื่อ” ภายใต้โครงการ “รู้รัก ภาษาไทย” ปี63

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ “รู้ทันสีสันภาษาสื่อ” ภายใต้โครงการ “รู้รัก ภาษาไทย” ปี 2563 ส่งเสริม อนุรักษ์ภาษาไทย มีกิจกรรมการประกวดเล่าเรื่องของนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 และการเสวนาทางวิชาการ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมมอบเกียรติบัตรนักเรียนที่ชนะการประกวดเล่าเรื่อง และได้รับเกียรติจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานด้วย รองนายกฯเผยภาษาไทยพัฒนาไปมาก เช่น ภาษาที่ใช้ทางสื่อออนไลน์ หนุนใช้ภาษาตามหลักที่โลกยอมรับ ใช้ภาษาสุภาพไพเราะ ไม่โป้ปด มดเท็จ หลอกลวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่งคือ “จัดการศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาไทยถิ่น” และ “กําหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทย มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น” สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้ดำเนินโครงการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2563 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันสีสันภาษาสื่อ” ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย”

ดร.ดวงตา ตันโช เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยถึงการจัดงานว่า “สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่หลักประการหนึ่งในการอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และรักษาภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป” สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และใน พ.ศ. 2564 นี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็น 2 กิจกรรม ดังนี้
1. การประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ของกิน ของเล่น ของใช้” สำหรับเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป. 4-6) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นและภาษาไทยมาตรฐานที่แสดงความสามารถในการใช้ภาษาไทยถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย
2. งานวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) จึงได้เลื่อนการจัดงานจากวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563 ภายใต้หัวข้อ “รู้ทันสีสันภาษาสื่อ” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “รู้ทันสีสันภาษาสื่อ” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ,นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ ,ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ภักดีผาสุข จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดังกมล ณ ป้อมเพชร รองคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลต้องขอขอบคุณราชบัณฑิตยสภาที่กรุณาจัดให้มีกิจกรรมสำคัญเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปีนี้ขึ้น แม้อาจไม่ตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ เพราะว่ากิจกรรมหลายอย่างต้องถูกเลื่อนออกไปเหมือนกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อหลีกช่วงระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า Covid-19

การจัดงานเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาตินั้น มีปฐมเหตุมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เคยมีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของภาษาไทยไว้ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินร่วมการอภิปรายทางวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อหลายปีมาแล้ว การมีพระราชดำรัสครั้งนั้น ได้ประทับร่วมกับนักปราชญ์ราชบัณฑิตทางภาษาของประเทศหลายคน ได้ประทับบนเวทีร่วมกัน ได้ทรงตั้งคำถาม ได้ทรงตอบคำถาม ได้ทรงแสดงพระราชทัศนะ และได้มีประโยคสำคัญเกิดขึ้น คือ การที่ทรงขอให้คนไทยรำลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ช่วยกันรักษา ช่วยกันใช้ ช่วยกันต่อยอด ช่วยกันพัฒนา การอภิปรายทางวิชาการ จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศเอาวันที่ระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งกระนั้นเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว แล้วก็เลยกลายเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติสืบมาจนทุกวันนี้
คนที่จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติมีมากหลากหลาย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงเรียนต่าง ๆ สถาบันต่าง ๆ ก็แยกกันจัดอยู่ทั่วไป แต่สถาบันหนึ่งซึ่งเป็นหลักเป็นประธานของประเทศจะอยู่เฉย ไม่จัดอะไรเลยเห็นจะไม่ได้ก็คือ ราชบัณฑิตยสภา เพราะว่าราชบัณฑิตยสภา เป็นหลักเป็นประธานขององค์ความรู้ทั้งหลายของประเทศ เป็นหน้าเป็นตา เป็นศรีเป็นสง่าขององค์ความรู้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือศาสตร์ใด ๆ ก็ตาม ดังที่ปรากฏในนานาประเทศ แต่ในบรรดาศาสตร์ทั้งหลาย หัวใจของราชบัณฑิตยสภา อยู่ที่ ภาษาไทย เมื่อเอ่ยถึงราชบัณฑิตยสภาก็จะนึกถึงผลงานด้านภาษาไทย เมื่อเอ่ยภาษาไทย เราก็จะนึกถึงราชบัณฑิตยสภา เป็นดังนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อแรกสถาปนาขึ้นแล้ว



ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้ชำระและจัดทำพจนานุกรมของทางราชการขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้เป็นฉบับราชการ เวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเถียงกันเรื่องคำในกฎหมายหรือภาษาไทย เถียงกันว่าถ้อยคำนี้ ประโยคนี้ที่จำเลย บริภาค หรือด่าโจทก์ เป็นคำธรรมดา คำสุภาพ คำดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ศาลให้เปิดพจนานุกรมและให้ยุติตามนั้น จึงกล่าวกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วว่า ราชบัณฑิตยสภาเป็นศาลฎีกาของภาษาไทย องค์ความรู้อื่นๆ แม้ราชบัณฑิตยสภาจะมีอยู่แต่ก็อาจจะเป็นเพียงศาลชั้นต้น ศาลอุทร ศาลแขวง ศาลจังหวัด แต่ถ้าเอ่ยถึงภาษาไทยแล้ว ถือเป็นยุติตามราชบัณฑิตยสภา คือ เป็นศาลฎีกาโดยใช้พจนานุกรมเป็นหลัก
จนแม้แต่คำใดที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม เพราะยังเก็บไว้ไม่ทัน หรือยังตรวจชำระกันไม่เสร็จ คณะรัฐมนตรีมีมติถ้ามีปัญหาสงสัย ให้ส่วนราชการหนังสือถามไปที่ราชบัณฑิตยสภา ขอคำวินิจฉัยเฉพาะคำคำนั้นไปก่อน หรือแม้แต่เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องบัญญัติศัพท์ใหม่ที่มาจากต่างประเทศ และเรายังไม่เคยมีในภาษาไทย ถ้าหากอยากจะรู้ว่าควรจะเรียกอย่างไร จะได้เรียกให้เหมือนกัน ไม่ลักลั่นกัน ก็ให้หารือไปที่ราชบัณฑิตยสภา การที่จะประกาศให้วันใดเป็นวันสำคัญของชาติ ซึ่งแน่นอนต้องมีความเห็นหลากหลาย คือ มีทั้งผู้สนับสนุน และผู้คัดค้าน บางครั้งก็มีความเห็นว่าควรจะเป็นวันโน้น บางครั้งก็เห็นว่าควรจะตั้งชื่อเรียกอย่างนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถามราชบัณฑิตยสภา แล้วเป็นอันจบกัน บทบาทและความสำคัญของราชบัณฑิตยสภาในภาษาไทยจึงมีมากถึงเพียงนี้


ฉะนั้น เมื่อมาถึงวันภาษาไทยแห่งชาติ จึงเป็นหน้าที่ที่ราชบัณฑิตยสภาต้องฟื้นกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา และสืบทอดต่อไปทุกปี ๆ คนอื่นจะได้เจริญรอยตาม คนอื่นเขาจะได้รู้ว่าวันภาษาไทยแห่งชาติยังมีอยู่ ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร ภาษาไทยเป็นภาษาที่คนไทยใช้ติดต่อสื่อสาร ใช้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ สืบต่อมายาวนานเป็นร้อยปี เราก็ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีภาษาของตนเอง พูดอย่างนี้หลายคนอาจจะนึกแปลกใจว่า มีด้วยหรือประเทศที่ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง มหาอำนาจบางประเทศ เค้าก็ไม่ได้มีภาษาของเค้าเอง
เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทย มีภาษาเป็นของเราเองจึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และจำเป็นที่จะต้องหวงแหน ถนอม รักษา พัฒนา ต่อยอด ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการจดบันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกเรื่องราวในทางขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม บันทึกกฏหมาย บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เราได้นำมาใช้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ภาษาไทยได้แตกแยกแขนงออกไปเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน เป็นภาษาเพลง ซึ่งมีความไพเราะงดงาม


รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของคนไทย ที่จะต้องใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษากลาง หรือภาษาถิ่นให้ถูกต้อง คำว่าถูกต้องในที่นี้ คือ ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนตามภาษานั้น ถูกต้องในที่นี้ก็คือถูกต้องในแง่ของความสุภาพ ไพเราะ ถูกต้องในที่นี้หมายถึงการอยู่บนพื้นฐานของความจริง คือใช้ภาษาแสดงสิ่งที่เป็นความจริงออกมา ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจ หรือความจริงที่เป็นสัจจะของเนื้อหา นั่นคือไม่บิดเบือน ไม่ใช้ภาษาไปในทางข่มหรือทำลาย หรือก่อให้เกิดความแตกแยก ภาษานั้นเป็นคำกลางๆ ในตัวมันเอง จะเอาไปใช้ในทางดี คือ สร้างสรรค์ก็ได้ จะเอาไปใช้ในทางร้ายคือ ประหัดประหาร ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ด่าทอกัน ก็ได้ ก็คราวนี้อยู่ที่ว่าจะใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์
“ผมจึงอยากขอขอบคุณราชบัณฑิตยสภาที่แบ่งกิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติในปีนี้ออกเป็น 2 ตอน ตอนแรก คือ การประกวดการเล่าเรื่อง หรือแสดงสุนทรพจน์ภาษาถิ่น อย่างที่เราเห็นเมื่อสักครู่ เดี๋ยวต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงที่สอง โดยการหยิบยกเอาภาษาไทยที่พัฒนาไปถึงอีกระดับหนึ่ง ซึ่งคนรุ่นก่อน อาจจะไม่เคยพบไม่เคยเห็น นั่นก็คือ ภาษาที่ใช้ทางสื่อออนไลน์ ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกที่ แต่มากอย่างไรในฐานะที่เป็นภาษาก็คงต้องอยู่บนหลักที่ผมได้เรียนให้ทราบ
หลักนี้ผมไม่ได้คิดขึ้นเอง ผู้รู้ทั่วโลกได้วางหลักเอาไว้ คือ ใช้ภาษาให้ถูกตามระเบียบแบบแผน ใช้ภาษาให้สุภาพไพเราะ ใช้ภาษาเพื่อเป็นฐานรองรับความจริง อย่าใช้ภาษาไปในทางประหัตประหาร ทำลาย โป้ปด มดเท็จ หลอกลวง เสกสรรปั้นแต่ง คำร้ายๆ ผมขอขอบพระคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมในวันนี้”