เรื่องจริงต้องรู้…/ช. พิทักษ์ .. “เรือดำน้ำสิงคโปร์”
กลับมาเขียนเรื่องสิงคโปร์ แต่ขอพักการเขียนถึงประเด็นยกระดับเมืองกุ้ย เปลี่ยนเป็นประเด็นเรือดำน้ำกองทัพเรือสิงคโปร์ เขียนประเด็นนี้เพราะประทับใจการชี้แจงของกองทัพเรือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนฯ คือทุกอย่างดีหมดไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ท่วงท่า การพูด
รวมทั้งการให้เกียรติสถาบันนิติบัญญัติด้วยการส่งผู้นำกองทัพทุกคนไปชี้แจง แต่ละคนพูดในประเด็นที่ตัวเองชำนาญ อย่างไรก็ดี แปลกใจหลังชี้แจงทำไมผลการสำรวจความเห็นประชาชน ๆ ถึงไม่เห็นด้วย มีการอ้างประชาชนไม่ชอบแม้กระทั่งท่วงท่ากิริยามารยาท
ความแปลกใจคลายลงเมื่อนึกขึ้นได้ที่ไม่ชอบอาจเป็นเพราะประชาชนไม่ชอบการซื้ออยู่แล้ว เพราะมองไม่ควรทำในขณะนี้ อีกทั้งพวกนี้ยังโกรธตัวเองที่โง่ไม่รู้เนื้อหาสาระที่แถลง เพิ่งมารู้ตอนได้ยินการชี้แจง ซึ่งฉับพลันพอได้ยินการโกรธตัวเองก็เกิดขึ้น
ผู้เขียนเองก็รู้สึกเช่นนี้ รู้สึกตอนได้ยินทะเลไทยอุดมไปด้วยทรัพยากร จนคนไม่น้อยได้รับประโยชน์ และไม่ใช่เฉพาะที่อยู่ติดทะเลเท่านั้น ยังรวมถึงผู้ทำอาชีพค้าส่งค้าปลีก ส่งออกสินค้า และแปรรูปอาหาร ซึงพอพูดแปรรูปอาหาร ผู้เขียนก็นึกถึงสาวโรงงานหนุ่มโรงงานจำนวนมาก
ที่ทำงานในโรงงานคัดปลา โรงงานทำกระป๋อง โรงงานปลากระป๋อง แล้วยังนึกถึงหนุ่มอ๊อฟฟิซสาวอ๊อฟฟิซที่ทำงานในกิจการเหล่านี้ ซึ่งพอนึกเช่นนี้ก็โกรธตัวเองทำไมไม่รวมพวกนี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่เห็นเป็นประจำ
(https://www.posttoday.com/world/560112)
แล้วยังมีเรื่องโกรธที่เป็นคำถามทำไมกองทัพเรือถึงยังต่อเรือใหญ่ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีแผนมาช้านาน ซึ่งรวมทั้งการส่งนายทหารไปเรียนวิชาต่อเรือในต่างประเทศ ทำไมเกาหลีใต้ถึงต่อได้ ทั้ง ๆ ที่คิดเรื่องนี้หลังไทย คือประเทศนี้เริ่มต่อเรือเมื่อปี 1968 หรือ 2511
และปัจจุบันได้พัฒนาจนล่าสุดเป็นประเทศต่อเรืออันดับหนึ่ง ชนะทั้งจีนและญี่ปุ่นที่ติดอันดับ 2 และ 3 โดยปีที่แล้วบริษัทต่อเรือเกาหลีใต้ได้รับสัญญาสั่งต่อคิดตามน้ำหนักจริง 9.43 ล้านซีจีที หรือร้อยละ 37.3 ของน้ำหนักจริงทั้งหมด ที่น่าสนใจก็คือ
เรือที่เกาหลีใต้ต่อส่วนใหญ่เป็นเรือระดับ big ticket หรือเรือเอาไปอวดได้ โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว และเรือบรรทุกตู้สินค้า โดยเฉพาะที่บรรทุกก๊าซเหลวที่แทบจะกวาดใบสั่งได้เกือบหมด เพราะมียอดสูงถึงร้อยละ 94
(http://www.businesskorea.co.kr/news/articleView.html?idxno=19984)
และนอกจากการต่อเรือใหญ่ ผู้เชียนยังแคลงใจเรื่องการให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือดำรงตำแหน่งแค่ปีเดียว เป็นเช่นนี้มาช้านาน จนคนที่รู้เรื่องพากันเบือนหน้า ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งพอมีใครจะพูดเรื่องกองทัพเรือไทยจะพากันเบือนหน้า
เพราะตราบใดที่กองทัพยังมีผู้บัญชาการอยู่ในตำแหน่งปีเดียว อย่าหวังกองทัพจะรุดหน้า ต้องอยู่อย่างน้อย 5 ปี โดยปีแรกออกเยี่ยมเยียนกองกำลังและผู้เกี่ยวข้อง ปีที่สองพูดคุยเจรจาเพื่อนำที่สิ่งที่พบมาแก้ไขและรังสรรค์ ปีที่สามลงมือทำ ปีที่สี่และห้าผลงานปรากฏชัดเจน
ซึ่งหมายถึงกองทัพสามารถมีผลงานที่เอาไปอวดได้ น่าเสียดายที่ไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ในระยะที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ชายฝั่งไทยทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันต่างมีความพร้อมที่จะได้รับการพัฒนาจนถึงระดับโลก และไม่จำเป็นจะต้องเฉพาะการท่องเที่ยว
ยังมีอย่างอื่นอย่างเช่นล่าสุดการจับปลาทะเลด้วยโดรน ทำให้ชาวประมงค์ไม่ต้องออกเรือเพื่อจับ
แล้วมาดูเรือดำน้ำสิงคโปร์กัน เพราะเวลาพูดถึงเรือคนไทยมักสงสัยประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ทำไมถึงมีเรือดำน้ำถึง 4 ลำ เอาไปทำไม 4 ลำ
คือพอเข้าใจสิงคโปร์อยู่ติดทะเลและครอบครองช่องแคบมะละกา กล่าวโดยรวมที่มี 4 ลำเพราะประเทศนี้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันประเทศ และไม่ใช่แค่ป้องกันเท่านั้น ยังรวมการป้องปราม เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์รบในพื้นที่ใกล้เคียง
คนประเทศนี้จะหวั่นต่อการขยายการรบมายังประเทศตน และที่เป็นไปได้มากที่สุดได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่มาขึ้นหรือลงเรือที่ท่าเรือประเทศนี้จะถูกระงับการส่ง นอกจากนี้กองทัพเรือสิงคโปร์ยังมีหน้าที่ปราบปรามโจรสลัดและเหล่ามิจฉาชีพทางทะเล
(https://www.maritimecyprus.com/2014/07/07/safe-navigation-in-the-malacca-and-singapore-straits/)
โดยมีการซ้อมปฏิบัติการเรื่องนี้ร่วมกับกองทัพเรือมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประจำ ส่วนความรุดหน้าล่าสุด 2 ปีที่แล้วกองทัพได้ประกาศแผนจัดซื้อเรือรบแบบ Multi-Role Combat Vessel หรือเรือรบหลายภาระกิจ
(https://nationalinterest.org/blog/buzz/why-singapores-navy-should-be-taken-seriously-80361)
ซึ่งนอกจากจะเป็นเรือนำกองเรือ ยังอาจเป็นเรือเข้าร่วมปฏิบัติการร่วมกับเรือแบบอื่น อย่างเช่นการบรรเทาสาธารณภัย โดยมีการมองเรือน่าจะถูกใช้เป็นเรือลำเลียงเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้การบรรเทาทำได้รวดเร็วและคล่องแคล่วกว่าปัจจุบัน
และถ้ามีการซื้อจะทำให้กองทัพเรือสิงคโปร์ยังคงเป็นกองทัพทันสมัยและพร้อมรบที่สุดกองทัพหนึ่งในโลก สำหรับเรือดำน้ำ 4 ลำของกองทัพมีชั้นดังนี้ Challenger Class ชั้นแชลเลนเจอร์ เป็นเรือดำน้ำลำแรกและซื้อจากสวีเด็นปี 1995
(https://en.wikipedia.org/wiki/Republic_of_Singapore_Navy#/media/File:RSS_Conqueror_01.jpg)
โดยตอนนั้นถูกระบุเป็นเรือชั้น Sjoormen Class เปลี่ยนชื่อเมื่อมีการปรับปรุงและยกระดับเพื่อให้เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ทะเลรายรอบ โดยส่วนหนึงคือ การติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบป้องกันสาหร่ายทะเลลอยกระทบ และการเปลี่ยนท่อทุกชิ้นให้เป็นท่อปลอดสนิม
เชื่อกันเรือดังกล่าวถูกซื้อเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการนำเรือดำน้ำเข้าประจำการกองทัพ ซึ่งต้องมีการเตรียมการหลายด้าน เป็นเรือต้นแบบเพราะมีอายุเกิน 40 ปี โดยในจำนวน 4 ลำที่ซื้อ 2 ลำถูกปลดประจำการแล้วเมื่อปี 2015 หรือ 2558
เรือชั้น Archer Class ซื้อจากสวีเด็นเช่นกัน ซื้อ 2 ลำ โดยตอนนั้นเป็นเรือชั้น Västergötland มีการลงนามซื้อปลายปี 2005 หรือ 2548 โดยในสัญญามีการระบุเรือจะต้องได้รับการปรับปรุงและยกระดับเพื่อให้เป็นเรือปฏิบัติการในน่่านน้ำเอเซีย
การปรับปรุงและยกระดับทำให้เรือสามารถอยู่ใต้น้ำได้ทนกว่า และส่งแรงกระทบน้ำน้อยกว่า ดังนั้นจึงสามารถปฏิบัติการในเชิง stealth หรือแอบทำ คือทำโดยศัตรูไม่รู้ตัว มีพิธีปล่อยเรือลำแรกกลางปี 2009 หรือ 2552 ส่วนลำที่ 2 อีก 4 ปีต่อมา
เรือมีการติดตั้งระบบ sonar system สำหรับตรวจจับคลื่นเสียงไกลกว่าเดิม ดังนั้นจึงพร้อมที่จะเตรียมการรบระยะไกลกว่าปกติ และสุดท้ายเรือชั้น Invincible Class ซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในเยอรมนี
(https://www.defnetofficial.com/post/submarine-invincible-meet-super-sub-headed-chinas-doorstep)
เดิมเป็นเรือแบบ Type 218SG มีการลงนามซื้อ 2 ลำแรกปลายปี 2013 หรือ 2556
และ 2 ลำสุดท้ายกลางปี 2017 หรือ 2560 ทุกลำยังไม่มีการส่งมอบ กำหนดส่งมอบลำแรกปีหน้า ลำที่สองปีถัดไป ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือส่งมอบปี 2024 หรือ 2567
วงการเรือดำน้ำโลกกำลังจับเรือเหล่านี้กันมาก เพราะค่อนข้างแน่นอนว่า จะปฏิวัติรูปแบบเรือดำน้ำ อีกทั้งจะพัฒนาแนวทางและวิธีรบให้สามารถต่อกรเรือและเครื่องบินรบทุกรูปแบบ ที่สำคัญเป็นเรือที่ได้รับการปรับให้ปฏิบัติการในทะเลตื้นและจอแจของสิงคโปร์
ดังนั้นจึงเป็นไปได้เป็นเรือดำน้ำที่ได้รับการออกแบบเพื่อพิทักษ์ประเทศเมืองท่าแห่งนี้ แล้วสัปดาห์หน้ากลับไปดูการทะยานสู่อำนาจของมหาบุรุษลี กวนยู