วช.โชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น ใต้แนวคิด “ลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน Power of CBR พลังขับเคลื่อนชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น” เพื่อยกระดับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่ 3 ในการพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่ เสริมพลัง (Empower) สร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และขยายผลต่อไปในวงกว้าง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลังท้องถิ่น พลังชุมชน มั่นคงด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยกล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยของประเทศ และให้ความสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้านวิจัยและนวัตกรรม


ซึ่งขณะนี้ วช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR” ซึ่งเป็นภารกิจการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ได้รับมอบหมายมาดำเนินการต่อจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม เพื่อสร้างกลไกการใช้คนในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัย และยกระดับผลิตภัณฑ์


โดย วช. ได้จัดกระบวนการและระบบการจัดการท้องถิ่นด้วยวิจัยสู่โจทย์และความต้องการระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการปัญหาและการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่วิจัย รวมทั้งการเรียนรู้ทบทวนสถานการณ์ ความรู้ และบทเรียนการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของยูเนสโก 7 มิติ ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และด้านความรู้ โดยบริหารงานผ่านกลไก ทั้ง 4 ภาค และผ่านศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (โหนด) ซึ่ง วช. ได้ให้ความสำคัญกับฐานโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีผลดำเนินการหลายพันโครงการ และนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีหลักหมื่นคน

การจัดงาน Power of CBR พลังขับเคลื่อนชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่นที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น และให้ผลผลิตของงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่นได้ถูกเผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของชุมชน และประเทศต่อไป


ทั้งนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 และศูนย์การเรียนรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1