รมว.อว.ชื่นชม “โครงการธนาคารปูม้า” ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์งานวิจัย
รมว.อว.ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ชื่นชมนำองค์ความรู้และงานวิจัยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะผู้บริหารจาก วช. พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ ให้การต้อนรับ และนำบรรยายสรุปพร้อมเยี่ยมชมโครงการ พร้อมกันนี้ รมว.อว.ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยชุมชน เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.
ภายหลังเยี่ยมชมโครงการ รมว.อว.กล่าวชื่นชม วช. และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาโครงการธนาคารปูม้าชุมชน โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และในโอกาสหน้าจะขอไปตรวจเยี่ยมที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศ.ดร.เอนก กล่าวต่อว่า หลังรับฟังรายงานได้แง่คิด 2 ประการ ประการแรก อว.ติดต่อชาวบ้านและประชาชน ด้วยการนำ “องค์ความรู้” และ “งานวิจัย” มาให้แทนการให้สิ่งของ มีนักวิจัยทำงานให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ และต่อมาพัฒนาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัย และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น เปรียบได้กับการช่วยคนด้วยการสอนให้ตกปลาหรือปลูกข้าว แทนการแจกปลาหรือแจกข้าว อันจะส่งผลให้เกิดการสร้าง “วัฒนธรรมวิจัย” ให้แก่ชุมชนและประชาชน ประชาชนสามารถทำวิจัย มีความชอบในการทำวิจัย และเชี่ยวชาญในการทำวิจัยแบบง่าย ๆ อย่างไม่เป็นทางการ เกิดความสุขใจในการทำวิจัย เพราะ ทำแล้วเห็นผลที่จับต้องได้จริง สร้างรายได้ สร้างความสุขและรอยยิ้มแก่ประชาชน
ประการที่สอง กระทรวง อว. มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง จึงขอให้ทุกหน่วยงานภายใต้ อว. มีความสามัคคี ช่วยเหลือ และชื่นชมในผลงานของหน่วยงานอื่น ๆ การศึกษางานซึ่งกันและกันของหน่วยงานต่าง ๆ ใน อว. จะมีประโยชน์มาก ตัวอย่างเช่น งานพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ( บพท.) สนับสนุน มรภ.นครศรีธรรมราช กับ งานธนาคารปูม้าชุมชน ของ วช. ทั้ง บพท. และ วช. สามารถศึกษางานของกันและกันและหาแนวทางการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาการทำงานต่อไปได้
นอกจากนี้ ความสำเร็จของการทำงานในจังหวัด เกิดจากการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสำคัญ ขอให้จังหวัดมั่นใจได้ว่าทุกหน่วยงานภายใต้ อว. จะสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดอย่างเต็มที่ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด และกระทรวง อว. จะสนับสนุน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะแม่ข่ายของกลุ่มมหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนบน โดยในอนาคตจะผลักดันให้มีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ จ.นครศรีธรรมราชต่อไป
พร้อมกันนี้ รมว.อว.ได้ตอบคำถามประชาชนถึงนโยบายหรือแนวทางในการทำงานร่วมกับชุมชนว่า การทำงานร่วมกับชุมชนนั้นทำให้บุคลากรในกระทรวงเข้าใจตนเองมากขึ้นว่า การทำงานในห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้น อาจารย์และนักวิจัยต้องทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น นำ วทน. มาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของชุมชน และ อว.ยังมีแนวทางวิจัยให้ชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้นได้ผ่าน “ชุมชนวิจัย”
“กล่าวคือ พัฒนาให้ชาวบ้านสามารถผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็น “นักวิจัยสมัครเล่น” ที่สร้างผลงานตอบโจทย์ปัญหาในชุมชน สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารปูม้าชุมชน ที่ชาวบ้านรับถ่ายทอดองค์รวมรู้ วทน. ผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้เป็นธนาคารปูม้า สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชน จับปูม้าได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นตัวอย่างให้คณะทูตต่างประเทศมาเยี่ยมชม เกิดเป็นความภูมิใจ และความสุขใจในชุมชน” รมว.อวกล่าว
สำหรับโครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” เป็นโครงการที่ขับเคลื่อน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน จำนวน 500 แห่ง
ส่วนศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ที่ วช.ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กระทรวงพาณิชย์ องค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอด หรือวิจัยเพิ่มเติม ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน
วช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดำเนินการโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ตามมติคณะรัฐมนตรี ในภาพรวมของประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนธนาคารปูม้าในพื้นที่ชายฝั่งให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้าในท้องทะเลไทยและการเป็นผู้นำด้านการส่งออก รวมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตธนาคารปูม้า และกำหนดวิธีการหรือมาตรการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วช. กรมประมง และหน่วยงานความร่วมมือ ได้มีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 543 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด ของประเทศไทย จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรธรรมราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรมประมง ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าทั้งหมด จำนวน 41 แห่ง ใน 6 อำเภอชายฝั่งทะเล ได้แก่ อ.เมือง 6 แห่ง อ.ขนอม 6 แห่ง อ.ท่าศาลา 12 แห่ง อ.ปากพนัง 4 แห่ง อ.สิชล 4 แห่ง และ อ.หัวไทร 9 แห่ง ภายใต้ โครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี”
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการของศูนย์วิจัยชุมชนภาคใต้ สร้างสรรค์เศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของธนาคารปูม้า