“ครูประทีป” มั่นใจแผนฟื้นฟู ขสมก. แก้ปัญหาคนจนผู้มีรายได้น้อยถูกจุด
ภาพรถโดยสารประจำทางที่เห็นอยู่บนท้องถนนในทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารถเมล์ ขสมก.ก่อมลพิษมากที่สุด การให้บริการย่ำแย่ ขาดทุนย่อยยับ รัฐบาลต้องแบกรับหนี้สินมหาศาลเป็นปัญหาเรื้อรังผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ไม่มีรัฐบาลไหนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ล่าสุดรัฐบาลชุดนี้ตั้งเป้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนตุลาคมนี้
ก่อนที่แผนฟื้นฟูจะคลอดออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และอดีตผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ขสมก. เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะของไทย รวมถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. กันก่อนว่าจะมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องการให้บริการของรถเมล์ไทยอย่างไร เริ่มกันที่ .. ผู้ที่ทำงานภาคประชาชนมายาวนาน อย่างครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ (ครูประทีป) เลขาธิการและกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป เปิดเผยว่า รถเมล์ยังเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ยังอยากให้มีบริการต่อไป เพราะรายได้ที่มีคงไม่เพียงพอ และแทบไม่มีสิทธิที่จะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดินเลย เนื่องจากมีค่าโดยสารค่อนข้างแพง และรายได้ของคนกลุ่มนี้แค่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหาร และยารักษาโรค ก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเข้ามาแก้ไขและปรับปรุงให้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ต้องมีคุณภาพที่ดี ปลอดภัย มีราคาไม่สูงจนเกินไป และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ต่อไป
“ส่วนตัวอยากให้มีรถเมล์ และค่าโดยสารแบบหลายทางเลือก เห็นด้วยกับการทำตั๋วค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน จะนั่งรถเมล์กี่สายก็ได้ เพราะทุกวันนี้มีประชาชนหลายคนต้องนั่งรถเมล์หลายต่อ ค่าโดยสารก็ยิ่งแพงขึ้น หากมีตั๋ว 30 บาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน แต่ทั้งนี้ควรมีตั๋วแบบเก็บอัตราปกติ เพราะบางคนนั่งรถเมล์เพียงไม่กี่ป้าย ถ้ามีแค่เพียงตั๋ว 30 บาทตลอดวันจะไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตามรู้สึกดีใจที่รัฐบาลลงมาดูแลเรื่องนี้จริงจัง หากทำได้ตามแผนฟื้นฟูที่ ขสมก. วางไว้ มีรถเมล์ใหม่สภาพดีออกมาให้บริการ น่าจะทำให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนก็รอมานานแล้ว เพราะปัจจุบันต้องทนนั่งรถสภาพเก่า ผุพัง และยังต้องเจอกับพฤติกรรมของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารบางคน ที่ไม่มีจิตบริการ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ด้วย”
ขณะที่ นางปราณี ศุกระศร อดีตผู้บริหาร ขสมก. และเคยรักษาการณ์ ผอ.ขสมก. ระบุว่า สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงที่อยู่ระหว่างการจัดทำในครั้งนี้ ถือว่าตอบโจทย์กับการดำเนินงานของ ขสมก.ที่จะสามารถประกอบการได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และไม่เป็นภาระของรัฐบาล ด้วยหลากหลายปัจจัย อาทิ มีรถโดยสารใหม่นำมาให้บริการ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ประชาชนกลับมาใช้บริการมากขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับ ขสมก. เพิ่มขึ้น และมีความคุ้มค่ากับการลงทุน
“ ในส่วนของแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงนี้ จะเป็นการเช่าเอกชนมาวิ่งให้บริการประชาชน ถือว่าไม่จะไม่เป็นภาระกับ ขสมก. ในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมา การจัดซื้อรถเมล์ ขสมก. จะมีต้นทุนการซ่อมบำรุง เมื่อไม่สามารถนำมาให้บริการได้แล้ว จะเหลือเป็นแค่เพียงเศษเหล็กเท่านั้น ในด้านของอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยลดภาระให้กับผู้โดยสาร สะท้อนกับแนวทางของ ขสมก. ที่เป็นหน่วยงานด้านการให้บริการสาธารณูปโภค ซึ่งไม่ควรให้ประชาชนแบกภาระ แต่อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะต้องคำนึงผลประกอบการที่ไม่ขาดทุนด้วย ” นางปราณี กล่าว
นับจากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่าแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. จะผ่านฉลุย และได้เดินเครื่องพลิกโฉมยกระดับการให้บริการประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากทำได้จริง มีรถเมล์ใหม่ให้ประชาชนได้ใช้บริการ ในราคาค่าโดยสารที่ไม่แพงจนเกินไป และที่สำคัญทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พนักงานประจำรถโดยสารมีจิตบริการ เพียงเท่านี้การพูดถึงการคมนาคม โดยเฉพาะรถเมล์ไทยในแง่ลบคงจะได้ยินน้อยลงอย่างแน่นอน