มทร.ธัญบุรี ผนึกเครือข่าย 4 สถาบัน เชื่อมโอกาสการศึกษา “เกษตรนวัต”

มทร.ธัญบุรี ลุยแนะแนวสาขาวิชาเกษตรนวัต ภายใต้การเรียนการสอนของโรงเรียนวังจันทร์วิทยา และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี พร้อมด้วยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เข้าแนะแนวการศึกษาต่อแก่นักเรียนสาขาวิชาเกษตรนวัต ภายใต้การเรียนการสอนของโรงเรียนวังจันทร์วิทยา และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ณ ห้องประชุมโรงเรียนวังจันทร์วิทยา จ.ระยอง เพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางการศึกษา เตรียมความพร้อมและเห็นโอกาสแห่งอาชีพ ก่อนก้าวสู่เส้นทางในระดับอุดมศึกษาต่อไป


นายกสภา มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า กิจกรรมการแนะแนวการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จัดขึ้นนี้เกิดจากความร่วมมือของ 4 สถาบันการศึกษาที่ได้ผนึกกำลังด้วยความตั้งใจให้กับนักเรียนสาขาวิชาเกษตรนวัตทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย นำโดย มทร.ธัญบุรี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในการจะส่งต่อโอกาสการศึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้นักเรียนสามารถมองเห็นลู่ทางของตนเองเกี่ยวกับการเรียนในด้านเทคโนโลยีการเกษตร และคณะวิศวกรรมศาสตร์

อีกทั้งถือเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรในวงการเกษตรกรรองรับเทคโนโลยีในอนาคตต่อไปได้ ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีลู่ทางที่เปิดกว้างสามารถรองรับนักเรียนสาขาวิชาเกษตรนวัตที่สนใจเข้าศึกษาได้ รวมถึงมีทุนการศึกษาและโควตาพิเศษ ถือได้ว่าระหว่างเรียนมีทุน เรียนจบมีงานทำ และเชื่อมั่นว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการ องค์กรของรัฐ เอกชน หรือเป็นเจ้าของกิจการตามความฝันตนเองได้

ด้าน ดร.เรืองแสง ห้าสกุล ที่ปรึกษาสาขาวิชาเกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อธิบายว่า สาขาวิชาเกษตรนวัต หรือ Innovative Agriculture เป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน และถือเป็นเกษตรกรรมอนาคตอย่างแท้จริง สาขาเกษตรนวัตจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยยุคใหม่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกต่อไป

ผู้เรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐานการเป็นนักวิทยาศาสตร์ รู้จักการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ที่สำคัญยังเน้นเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ในด้านเกษตรกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต โดยสาขาดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และโรงเรียนวังจันทร์วิทยา ซึ่งจัดการเรียนรู้แบบทวิศึกษา การจัดกิจกรรมแนะแนวครั้งนี้ถือเป็นการปูทางในการเรียนต่อให้ในระดับปริญญาตรีแก่นักเรียนในสาขาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ด้าน นางสาวณัฐธนพร อินทรัตน์ ครูที่ปรึกษาสาขาวิชาเกษตรนวัต กล่าวเสริมว่าผู้เรียนสาขาเกษตรนวัตเมื่อเรียนจบจะได้ 2 วุฒิการศึกษา คือ วุฒิ ม.6 และวุฒิ ปวช. ทั้งยังสามารถเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาตรีต่อไปตามความถนัดของตนเอง ในด้านเกษตร เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

และสามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น เกษตรกรอัจฉริยะในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปลูกพืช โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ ผู้จัดการธุรกิจฟาร์มเกษตร นักวิชาการด้านการเกษตร นักวิชาการด้านการจัดการผลิตผลเกษตร ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการทางการเกษตร นักวิชาการในหน่วยงานราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร หรือนักวิจัยในหน่วยวิจัย หรือเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไปได้

ขณะที่ นายณัฐพล พลจันทึก นักเรียนสาขาเกษตรนวัต ระดับชั้น ม.5 (ปวช.) เผยว่า ตนเองมีความชอบและความถนัดในด้านเกษตรอยู่แล้ว จึงอยากต่อยอดเป็นอาชีพ และมองว่านวัตกรรมเกษตรเป็นศาสตร์สำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรดั้งเดิมให้มีความแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เน้นความยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลทางเกษตรที่มีประสิทธิสูง ส่วนอนาคตนั้นตนอยากศึกษาต่อในคณะเทคโนโลยีการเกษตร เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญ และจะนำความรู้ทั้งหมดมาสร้างอาชีพเกษตรให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบันต่อไป