สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ อนาคตเศรษฐกิจไทย แนะไทยยึดยุทธศาสตร์ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเมินถ้าทรัมป์เป็นต่ออีกสมัย ไทยได้ประโยชน์กว่า แต่ไม่ว่าใครได้เป็น จีนจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกภายในอีกไม่เกิน 10 ปี แนะไทยยึดยุทธศาสตร์ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ เปิดรับทั้งคู่ ไม่เลือกข้าง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน กับ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต มีนัยต่อการวางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อการวางตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การวางตัวระหว่างสหรัฐฯกับจีน และจะมีผลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย เพราะทั้งคู่มีมุมมอง และนโยบายแตกต่างกัน
จากการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ มุมมองและนโยบาย
ทรัมป์ ต้องการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน (Decoupling) กระตุ้นบริษัทสหรัฐผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบและกลไกอื่นๆนอกประเทศจีน คงภาษีนำเข้าจากจีน รวมถึงการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น สงครามการค้าจะดำเนินต่อไป และอาจขยายเป็นสงครามเทคโนโลยี ที่คนสหรัฐต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่คนทั่วโลก ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ หรือจากจีน หรือต้องใช้ทั้งคู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศต่างๆ สูงขึ้น
ไบเดน ต้องการให้จีนเปลี่ยนท่าที เปิดตลาดให้สหรัฐฯขายของได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯในจีน และให้จีนดูแลทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ได้เป็นท่าทีที่อ่อนโยนกับจีนนัก เพราะต้องการกดดันให้จีนมีอิทธิพลต่อการค้าโลกลดลง และโอบล้อมจีนด้วยการสานต่อมาตรการ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership: ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ในสมัยโอบามา และเปิดรับการค้าในภูมิภาคเอเชีย เรียกว่าเป็นการเบี่ยงเบนการค้า (trade diversion) ให้สหรัฐฯมีอิทธิพลทางการค้ากับเอเชียแทนที่จีน แต่อาจไม่ใช่การค้าเสรีมากเช่นในอดีต เพราะไบเดนยังคงเน้นการจ้างงานในสหรัฐฯอยู่
สำนักวิจัยฯ ประเมินผลกระทบต่อไทยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯพบว่า
หากทรัมป์ชนะ น่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทย เนื่องจาก 1) สงครามการค้าใกล้จบ 2) นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ 3) ไทยยังเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีนจึงยังต้องสานต่อ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership: ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วย อาเซียน+6 แต่อินเดียยังไม่เข้าร่วม)
หากไบเดนชนะ ไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วม CPTPP เนื่องจาก 1) ไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน 2) การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง 3) ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP ขณะที่ไทยยังต้องเดินหน้าสัมพันธ์การค้ากับจีนผ่าน RCEP
แต่ไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯคนต่อไปจะเป็นใคร สหรัฐฯจะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 (America Second) และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ (China Number One) เพราะทั้งทรัมป์และไบเดนไม่ใช่ผู้นำโลกการค้าเสรี ทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ แต่จะผลักดันกระแสชาตินิยม เน้นการสร้างงานให้สหรัฐฯ Made in USA เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ทั้งนี้ กระแสชาตินิยมในสหรัฐฯกำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน
จีนจะเดินหน้าจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (ASIAN Infrastructure Investment Bank: AIIB) และโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) เพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ สหรัฐฯต้องหาทางอยู่ร่วมกับจีนให้ได้โดยอาจต้องยอมรับว่าจีนคือผู้นำเศรษฐกิจโลกคนต่อไป แต่สหรัฐฯจะยอมรับได้หรือ ?
ขณะนี้ เศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตรวดเร็ว เป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ นับจากปี 2553 โดย IMF ระบุว่า จีนมีมูลค่าจีดีพีคิดเป็นสัดส่วน 60% จีดีพีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 และขยับขึ้นเป็น 73% ในปี 2563 ล่าสุด IMF ออกมาคาดการณ์ว่า จีนจะมีสัดส่วนจีดีพีเพิ่มเป็น 90% ของจีดีพีสหรัฐฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า สำนักวิจัยคาดว่าภายในปี 2573 หรืออีกไม่เกิน 10 ปี จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ แม้จีดีพีของจีนยังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ภาคการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 พบว่า จีนแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว และคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเผชิญความเสี่ยงในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 หากไม่มีวัคซีน เศรษฐกิจสหรัฐฯจะโตช้ากว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น ผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป อาจจะต้องเผชิญความท้าทายที่จะเกิดแรงกดดันที่เราคาดว่าจีนอาจจะก้าวมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้เร็วก่อนปี 2573 จึงน่าจับตาว่า สหรัฐฯภายใต้ผู้นำคนใหม่จะยอมอยู่ร่วมกับจีนได้หรือไม่ อย่างไร
“ประเทศไทยต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯและจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเช่นนี้เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ คือ เปิดรับทั้งสองด้าน เดินหน้า RCEP และร่วม CPTPP แม้ว่าความขัดแย้งของจีนและสหรัฐฯจะยังมีอยู่ภายใต้ผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป ไทยไม่สามารถหนีกระแสโลกาภิวัตน์ ผมเชื่อว่าไทยและอาเซียนยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ความขัดแย้งตรงนี้ แต่หากบริหารไม่ดี กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้” ดร.อมรเทพ กล่าว
ดร.อมรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยต้องเน้นเรื่องการเป็นหุ้นส่วนกับจีน ผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ขณะเดียวกันต้องเน้นอุปสงค์ในประเทศจีนคือ อาหาร ยาง สินค้าเกษตร และเปิดรับทั้งสองประเทศผ่านกลุ่มอาหาร เกษตร การแพทย์สุขภาพ เป็นซัพพลายเชน กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเดินหน้าเน้นเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป
เปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต

