สสส.จับมือ “สช.-มจร.” เดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มุ่ง “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ควบคู่พัฒนาวัดต้นแบบครบ5กิจกรรม
สสส.จับมือ “สช.-มจร.” เดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มุ่ง “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ควบคู่พัฒนาวัดต้นแบบครบ 5 กิจกรรม ทำฐานข้อมูล-คัดกรองสุขภาพ-อบรมพระคิลานุปัฏฐาก-ส่งเสริมสุขภาพ-ร่วมโครงการบวร 5,000 วัด ตามเป้า
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.63 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตอยุธยา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การติดตามผลอย่างมีส่วนร่วม ทบทวนกลไก เป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560” โดยพระเทพเวที, รศ.ดร. (พล อาภากโร) ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 6 และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร. กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มุ่งขับเคลื่อนให้ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ภายใน 10 ปี (พ.ศ. 2560-2570) โดยให้ “ตำบลเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์และประชาชน” ต่อมากระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายให้ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในระดับตำบล จับคู่การดูแลวัดกับสถานบริการสาธารณสุข 1 วัด 1 รพ.สต. รวมทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข ของกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมาย 5,000 วัด 5 กิจกรรม
ในปี 2562 การสำรวจพบว่า มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพ 881 วัด ตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ 8,929 วัด มีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรม 2,720 วัด เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 5,364 วัด และวัดร่วมโครงการชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร 4,911 วัด แต่กลับพบว่า มีวัดต้นแบบที่ดำเนินงานได้ครบ 5 กิจกรรมเพียง 881 วัด
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า พระสงฆ์ และองค์กรพระพุทธศาสนา เป็นภาคีสำคัญในการผลักดันให้เกิดสังคมสุขภาวะ สสส. จึงมุ่งพัฒนาสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 คือ 1.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพของตนเองตามหลักพระธรรมวินัย จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของพระสงฆ์ โครงการร่วมแรงร่วมใจสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ไทย ศึกษาปัญหาสุขภาวะของพระสงฆ์ทั้ง 4 มิติ ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา
2.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระวินัย โดยจัดทำสื่อสงฆ์ไทยไกลโรค 9,863 วัด วัด ประชา รัฐ สร้างสุข และสนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมในโครงการวัดบันดาลใจ และ 3.พระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม เกิดศูนย์เรียนรู้งานสาธารณสงเคราะห์ พัฒนาแกนนำพระสงฆ์ พระนิสิต และพระนักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ มุ่งให้พระสงฆ์สามารถเป็นที่พึ่งของสังคม ส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาวะ
ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อทบทวนกลไก เป้าหมาย และปรับปรุงทิศทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ให้หน่วยงานที่เกียวข้องเกิดการทำงานอย่างบูรณาการ กำหนดตัวชี้วัดร่วม ลดความซ้ำซ้อนของกิจกรรม และพัฒนาให้เกิดความร่วมมือผ่านกลไกการปกครองของคณะสงฆ์ ทั้งในระดับหนใหญ่ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ช่วยให้วัดและพระสงฆ์ขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญคือการเชื่อมประสานการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ร่วมกับ 13 โครงการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2560-2564 อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์เพื่อการเข้าถึงสิทธิรับบริการสุขภาพ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ต้องเร่งสำรวจทะเบียนวัดและจำนวนพระ เพื่อให้พระเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้สำเร็จเพียงร้อยละ 70 นอกจากนี้จะเตรียมประเมินผลการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติและปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุก 5 ปี