“ชวน” ย้ำสร้างวินัยจราจรแก้ปัญหาอุบัติเหตุ เชื่อคนไทยทำได้ -สสส. มุ่งป้องกันอุบัติเหตุตลอดปี

“ชวน” ย้ำสร้างวินัยจราจรแก้ปัญหาอุบัติเหตุ เชื่อคนไทยทำได้ เช่นเดียวกับความสำเร็จลดอัตราการสูบบุหรี่ สสส. มุ่งป้องกันอุบัติเหตุตลอดปี เน้นกลุ่มเสี่ยง จยย. แก้ไขจุดเสี่ยงลงลึกถึงตำบล
รัฐสภา ร่วมกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม เรื่อง “รัฐสภาไทย มุ่งมั่น ลดเจ็บ ลดตาย บนท้องถนน” เนื่องในโอกาสวันรำลึกถึงผู้สูญเสียบนท้องถนน หรือ Road Safety : World Day of Remembrance 2020 ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุม 402-403 อาคารรัฐสภาเกียกกาย

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยอดผู้บาดเจ็บสะสมจากอุบัติเหตุทางถนนจนถึงวันที่ 10 พ.ย. 63 มีกว่า 840,000 ราย เป็นตัวเลขที่ฟ้องเราอยู่ทุกวัน แต่สาเหตุทั้งหมดมาจาก “วินัย” แม้การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะติดอันดับต้น ๆ ของโลก ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายคนเอาเรื่องนี้มาวัดคุณภาพของคนไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่จริง เพราะไทยยังมีวาระแห่งชาติที่ดีอีกหลายเรื่อง

อย่างเช่นการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้องแอร์ ห้องอาหาร การลดอัตราการสูบบุหรี่ลง ประเทศไทยทำได้อย่างประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยทำได้ ดังนั้นเรื่องของวินัย ไม่ใช่ว่าแย่กว่าที่อื่น แต่อยู่ที่เอาจริงหรือไม่ ถ้าเอาจริงก็สามารถทำได้ “วินัย” คือหัวใจการแก้ปัญหา ดังนั้นไทยสามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้ หากได้รับการฝึกวินัยมาตั้งแต่ต้น

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนน ความก้าวหน้าและข้อท้าทายในการดำเนินงานของสมาชิกรัฐสภาในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับวาระโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และมาตรการที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ มีผลรับรองได้ว่าสามารถลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือและความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ในการดำเนินงานเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ



ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นเรื่องอันดับต้น ๆ ที่ สสส. ให้ความสำคัญและเข้าดำเนินการเพื่อกระตุ้นการลดอุบัติเหตุมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนทั้งงานด้านวิชาการ การผลักดันนโยบาย กฎระเบียบใหม่ และสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังสังคม โดยจะเห็นว่าโครงสร้างการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพหลัก จึงเกิดการผลักดันให้มีศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล รวมถึงการแก้กฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้เพิ่มการทำงานในแนวราบ โดย 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เน้นปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงให้กลไกระดับอำเภอและตำบลทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ผ่านโครงการต่างๆ ของภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยทางถนน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้ให้ยั่งยืน เมื่อย้อนกลับไปถึงการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ได้พูดถึงทศวรรษความปลอดภัยทางถนน 2554-2563 กระทั่งเกิดเป็นปฏิญญาสตอกโฮล์ม ซึ่งแต่ละประเทศต้องออกข้อปฏิบัติลดอุบัติเหตุให้ได้อีก 50% ในปี 2021-2030 พร้อมกับการกระตุ้นเตือนให้เกิดการทำงานอย่างจริงจัง


ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลไทย ได้ตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับจัดการระบบความปลอดภัย (Safe System) และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีองค์การอนามัยโลกสนับสนุนด้านนโยบายและเทคนิค