สกสว. เร่งเครื่องพัฒนาโรดแมปวิจัย 10 อุตสาหกรรม กลไกสำคัญดันเศรษฐกิจฟื้น
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0” ครั้งที่ 3 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
โอกาสนี้ ศ.นพ.สุทธิพร ประธาน กสว. กล่าวถึงความสำคัญของการจัดทำของแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติว่า “โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0” เป็นโครงการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 สาขา กลุ่มแรก คือ การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร กลุ่ม 2 คือ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัลและ 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
โดย สกสว. มุ่งหวังให้เป็น National Technology R&D Roadmap ของประเทศไทย ที่ผ่านการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และปรับปรุงจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนําไปใช้กําหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เชื่อมต่อกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของทั้งไทยและระดับนานาชาติ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรและการยกระดับขีดความสามารถของเครือข่ายนักวิจัยไทยที่เหมาะสม การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้น นับเป็นกระบวนการสำคัญ ที่เชื่อมโยงการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้ากับการคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรม ธุรกิจ ตลาด สภาวะแวดล้อมและลูกค้า โดยการวิเคราะห์เพื่อกำหนดตำแหน่งการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ในแต่ละส่วนของตลาด ลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องพัฒนา เทคโนโลยีที่ต้องมี อาทิ เทคโนโลยี การผลิต การออกแบบ หรือความรู้ทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนการวิจัยและพัฒนาของเทคโนโลยีดังกล่าว ในหลายกรณีการวิเคราะห์จัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงการวิเคราะห์นโยบายและระบบสนับสนุนที่จำเป็น โดย สกสว. จะนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างถูกทิศทางตามที่ประเทศควรก้าวไป โดยผ่านความร่วมมือและบูรณาการจากหน่วยงานบริหารงานวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยทุกภาคส่วน โดยมี สกสว. เป็นฝ่ายเลขานุการทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนวิชาการให้กับคณะกรรมการ
ด้าน รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี ผู้อำนวยการโครงการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลถึง กรอบการดำเนินงานและความก้าวหน้าของการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ว่า“แผนที่นำทางเทคโนโลยี” ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจที่ต้องเตรียมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ มักจะนำ แผนที่นำทางเทคโนโลยี หรือTechnology Roadmap (TRM) มาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอนาคต ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร การทำ TRM คือการออกแบบการทำงานที่คำนึงถึงวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรในระยะยาว ทั้งในเรื่องของเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ตลาด ผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนา การจัดหา ทรัพยากร และการคาดการณ์การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของโลก ฯลฯ นำมาวิเคราะห์และสรุปผล แล้วออกแบบเป็นรูปกราฟิกหรืออินโฟกราฟิก เพื่อใช้สื่อความให้หน่วยงานและหน่วยธุรกิจทุกหน่วยงานในองค์กรเห็นภาพอนคต และเส้นทางการเดินไปสู่เป้าหมายในอนาคต ที่พึงประสงค์ขององค์กรได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว
ก่อนการสร้างแผนที่นำทางเทคโนโลยีในระดับองค์กร จะเริ่มพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก ที่องค์กรควบคุมไม่ได้โดยตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทิศทางของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การเมือง เป็นต้น หลังจากนั้นจะประเมินว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะมีผลต่อโอกาสทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร
ขั้นตอนต่อไปคือ การวาดภาพของผลิตภัณฑ์ หรือบริการในอนาคตของธุรกิจที่จะต้องสร้างขึ้น จากนั้นก็จะเป็นการแยกย่อยถึงองค์ประกอบต่างๆ ของผลิตภัณฑ์หรืบริการในอนาคตว่า จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใดบ้างเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการพัฒนาต่อ หรือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันผลของการวิเคราะห์ดังกล่าว จะนำไปสู่การกำหนดหัวข้อและเนื้อหาของงานวิจัยและพัฒนาที่ต้องทำตลอดไปจนถึงการประมาณการ ทรัพยากรสำคัญที่องค์กรต้องเตรียมจัดหาให้พร้อม ตรงตามช่วงเวลาที่ต้องการ ได้แก่ทรัพยากรบุคคล เงินทุน ความรู้ความสามารถขององค์กร ความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเตรียมสร้างพันธมิตรภายนอกองค์กรที่จำเป็น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบัน การศึกษา มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของการประชุม มีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการประยุกต์ใช้แผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต” โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สกสว. เข้าร่วมให้ข้อมูลถึงบทบาทการทำงานของ สกสว. ในการพัฒนาโรดแมปวิจัย 10 อุตสากรรม ต่อมามีการประชุมเชิงปฏิบัติการรายอุตสาหกรรม ที่มีการนำเสนอผลการวิเคราะห์จัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีของกลุ่มอุตสาหกรรม (แยกรายกลุ่ม) ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากฟากอุตสาหกรรมโดยตรง ร่วมให้ข้อมูลความคิดเห็นสำคัญในการพัฒนาแผนที่นำนี้