มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจข่าวความรุนแรงทางเพศปี62 น่าห่วงเด็กเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง อายุน้อยสุด4 ขวบ
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี 2562 น่าห่วงเด็กเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง อายุน้อยสุดเพียง 4 ขวบ น้ำเมายังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ พบกรุงเทพฯครองแชมป์ความรุนแรงทางเพศ ขณะที่ “อดีตนักเรียนถูกครูคุกคามทางเพศ” จี้รื้อถอนรากเหง้าอำนาจนิยม โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย คนทุกเพศต้องไม่ถูกคุกคามข่มขืน ปลุกผู้เสียหายลุกขึ้นสู้
เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดสัมมนารายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศในรอบปี2562 โดยมีนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ ภายในงานมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ส่งพลังใจปกป้องเยาวชน” จากนั้นมีเวทีเสวนาหัวข้อ “ไขปัญหา : เมื่อเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศ”
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯได้เก็บรวบรวมข่าวสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศปี 2562 ในหน้าหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับ พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกว่า 333 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9 ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ11.7 ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ10.2 สำหรับอายุผู้ถูกกระทำ พบมากที่สุด คือเด็กและเยาวชน11-15 ปี ร้อยละ47.3 รองลงมา อายุ 16-20 ปีร้อยละ 35.7 อายุ 6-10 ปี ร้อยละ 4.5 อายุ 21-25 ปี ร้อยละ 4.1 ที่น่าห่วง คือ อายุผู้ถูกกระทำที่น้อยสุด คือ เด็กหญิง วัย 4 ขวบ (กรณีข่าว ถูกน้าชายเสพยาบ้าข่มขืน) ส่วนอายุมากสุด คือ อายุ 94 ปี (กรณี ถูกเพื่อนบ้านวัย 63 ปี ข่มขืน) ขณะเดียวกัน หากดูอายุของผู้กระทำที่น้อยสุด คือ13 ปี (กรณี ข่มขืนนักเรียนหญิง วัย 14 ปี ซึ่งรู้จักกันผ่าน Face Book) ส่วนผู้กระทำที่มีอายุมากสุด คือ อายุ 89 ปี (กรณี ข่มขืน หญิงวัย 84 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกัน) เมื่อตรวจสอบอาชีพของผู้ถูกกระทำ พบว่า ร้อยละ84.8 เป็นนักเรียน นักศึกษา
นางสาวอังคณา กล่าวว่า นอกจากนี้ผลสำรวจ ยังพบความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ อันดับ 1 เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9 อันดับ2 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6 อาทิ ครูกระทำกับนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน , เพื่อนร่วมงาน/เพื่อน , คนข้างบ้าน , พระกระทำเด็กที่คุ้นเคยกัน พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง , ลุง-หลาน , พ่อ-ลูก , น้า-หลาน ส่วนอันดับ 3 ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5 และปัจจัยกระตุ้น มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ความต้องการทางเพศ ส่วนพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ขอนแก่น กระบี่ อุดรธานี
นางสาวอังคณา กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลที่มูลนิธิฯได้ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปี 2562-2563 พบเข้ารับคำปรึกษาช่วยเหลือ 36 กรณี ส่วนใหญ่ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำอันดับหนึ่ง คือ นักเรียน/นักศึกษา รองลงมา พนักงานของรัฐ/บริษัทเอกชน รับจ้าง จากข้อมูลที่น่าห่วงนี้ มูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ปลูกฝังทัศนคติ พฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่กระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ และต้องร่วมกันปกป้องช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ มิใช่ มาตีตราหรือกล่าวโทษคนที่เสียหาย 2.ปรับทัศนคติ พฤติกรรมของบุคคลที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรง 3. ให้การศึกษากับเด็กในระบบโรงเรียน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีทักษะแก้ไขปัญหาความรุนแรง การเคารพสิทธิผู้อื่น โดยกระทรวงศึกษาฯ ต้องดำเนินการเรื่องหลักสูตรความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง และควรแต่งตั้งคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนมีส่วนร่วมตรวจสอบการคุกคามทางเพศในโรงเรียน 4.มาตรการป้องกันในชุมชนต้องทำให้คนในชุมชนตระหนักในปัญหาการคุกคามทางเพศ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ เฝ้าระวังปัญหา และ 5.กฎหมายอาญา ในประเด็นการคุกคามทางเพศ ให้มีการนิยามและบทลงโทษที่ชัดเจน
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ข้อมูลที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรวบรวมมานั้น เป็นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีความและมีการรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของจำนวนเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจริง ตรงนี้เป็นประเด็นว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถูกล่วงละเมิดทางเพศถึงไม่กล้าแจ้งความ หรือหลายคนไม่กล้าแม้แต่จะบอกคนใกล้ชิด
“จะเห็นว่าคนที่ถูกล่วงละเมิดส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเขาอยู่ในวัยที่ประสบการณ์น้อย ยังต้องพึ่งพาและอยู่ใต้อำนาจของผู้ใหญ่ สังคมไทยชอบบอกว่าเด็กเป็นเสมือนผ้าขาว มองว่าเด็กดีควรเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา โดยเฉพาะเรื่องเพศ เราไม่ยอมพูดความจริงกันว่าทุกวันนี้ภัยทางเพศมีอยู่รอบตัวเด็ก ครอบครัวและโรงเรียนเลยไม่บอกไม่สอนให้เด็กเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เอาแต่พูดลอยๆ ว่าเด็กผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ซึ่งการพูดเพียงเท่านี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กมีทักษะป้องกันตัวหรือรับมือกับอันตรายทางเพศได้” ดร.วราภรณ์ กล่าว
ดร.วราภรณ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยรากเหง้าอีกอย่างคือวัฒนธรรมอำนาจนิยม สังคมไทยมักสอนให้เด็กเคารพคนมีอำนาจ เราสอนแบบเหมารวมว่าเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องกตัญญูรู้คุณ ยิ่งเป็นญาติผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ยิ่งต้องเคารพ เราไม่สอนให้เด็กรู้จักแยกแยะระหว่างผู้ใหญ่ที่น่าเคารพกับผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต แสวงหาประโยชน์ ละเมิดสิทธิ หรือทำร้ายเด็ก พอวัฒนธรรมที่กดทับควบคุมเรื่องเพศของเด็กกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันมาเจอกัน ไม่ว่าจะในครอบครัวหรือโรงเรียน มันก็มีโอกาสที่เด็กจะถูกละเมิดทางเพศได้มาก และเมื่อเกิดเรื่องเด็กก็มักไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกใคร เพราะสิ่งที่เขาเจอมันขัดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกสอนมา และคนในสังคมบางกลุ่มจะหันมาประณามเด็กว่าโกหกหรือใจแตก ถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่ยอมรับให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้โดยปริยาย
น.ส.นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หรือ น้องหมวยเอิน เยาวชนที่เคยถูกคุกคามทางเพศ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ชีวิตสมัยเรียนมัธยมเคยถูกครูในโรงเรียนกระทำอนาจารเอามือจับหน้าอก จับด้านในตัว สุดท้ายมีการไกล่เกลี่ยโดยไม่มีการลงโทษผู้กระทำ จนกลายเป็นความทรงจำเลวร้าย ส่งผลกระทบทางจิตใจมาถึงทุกวันนี้ ความจริงเคยถูกครูคนนี้ลวนลามหลายครั้ง ทั้งบนรถตอนพามาส่งที่บ้าน เอามือลูบขา จงใจเบรกรถให้หน้าอกชนหลัง เคยถูกครูกอดในห้องน้ำ ส่วนสาเหตุที่ปล่อยเรื่องนี้ไว้ไม่บอกใครคิดว่าครูแกล้ง ครูเอ็นดู ด้วยความที่ตอนนั้นไม่รู้ ว่านั่นคือการล่วงละเมิดทางเพศ ต่อมาก็ทั้งอายและกลัว ถ้าทุกคนรู้ เราต้องถูกตีตรา ลดทอนคุณค่า ถูกดูถูก และตอนนั้นก็กลัวถูกไล่ออกจากโรงเรียน กลัวอำนาจข้างบนกดทับ ผ่านมา 4 ปี พอตัดสินใจเข้าไปพบผู้อำนวยการ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าหรือมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้เลย
“ตอนนี้สังคมเริ่มไม่ยอม ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องแบบนี้ แต่จะมีแค่บางกลุ่มที่ยังโทษผู้ถูกกระทำ ยังปกป้องคนผิด ที่หนูออกมาเรียกร้องก็เพราะต้องการความยุติธรรม รื้อระบบอำนาจนิยม อย่างน้อยรุ่นน้องและคนอื่นๆ จะได้ไม่โดนแบบนี้ โรงเรียนควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย สามารถช่วยเหลือได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ที่สำคัญหนูอยากเพิ่มพื้นที่ความเข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนทุกเพศต้องไม่ถูกกระทำ เราต้องเป็นสังคมแห่งการให้เกียรติกัน และในวันที่18 ธ.ค.นี้ ทางโรงเรียนที่หนูเคยเรียน ได้เชิญหนูไปเพื่อร่วมรับฟังกระบวนการสอบสวน ร่วมกับนักสิทธิมนุษยชน เพื่อหาแนวทางและวางมาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ท้ายที่สุดก็ต้องดูต่อไปว่าผลจะออกมาอย่างไร” นางสาวนลินรัตน์ กล่าว