อว.-วช. ร่วม ม.นวมินทราธิราช ส่งมอบหน้ากาก N99 -หน้ากากป้องกันเชื้อโรค PAPR ให้องค์การเภสัชฯ – กทม. สู้ COVID-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชมอบ “หน้ากาก N99 จำนวน 4,000 ชิ้น และ ชุด PAPR จำนวน 1,000 ชุด” ให้องค์การเภสัชกรรมและกรุงเทพมหานครส่งต่อบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศสู้ภัย COVID-19 ทำความสะอาดได้ 100-200 ครั้งใช้งานได้นาน 6 เดือน ด้านวัคซีนสู้โควิด-19 มีผลประเมินประสิทธิภาพขั้นสุดท้ายได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดได้ใช้ในอนาคตอันใกล้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ รศ. นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมมอบผลงานวิจัยหน้ากาก N99 จำนวน 4,000 ชิ้น และ ชุด PAPR จำนวน 1,000 ชุด ให้องค์การเภสัชกรรม และกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ COVID – 19 ที่กำลังระบาดระลอกใหม่อยู่ในขณะนี้
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนสนับสนุนกลไกการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สำคัญของประเทศจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 กระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงบุคลากร เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลเพื่อให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่รองรับผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และขอให้มั่นใจว่ากระทรวง อว.พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลประเทศไทยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยกันอีกครั้ง
“การระบาดของโรคโควิด-19ระลอก2 มีการติดเชื้อมากกว่าเดิม แต่เรามีความกลัวน้อยลง ตื่นตระหนกน้อยลง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรามีความพร้อม ผลงานวิจัยพัฒนาของทีมมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชที่วช.สนับสนุน ถือเป็น1ในเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ปกป้องบุคลากรการแพทย์”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ วช.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว
ซึ่งในวันนี้ผลสำเร็จของงานวิจัยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N 99 จำนวน 4,000 ชิ้น และหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (PAPR) จำนวน 1,000 ชุดผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช นำโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อมอบให้กับองค์การเภสัชกรรมและกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ต่อไป
“โรคโควิด-19 มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนธันวาคม 2563 ก่อนระบาดไปทั่วโลก นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลก คาดว่า สถานการณ์ระบาดจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ1-2ปี ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากกว่า 5,000 คนกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ เชื้อโรคแพร่กระจายผ่านทางระอองฝอย ผ่านการไอ จาม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงมีความเสี่ยงติดเชื้อและอุปกรณ์คุณภาพสูงมีการขาดแคลน วช.จึงสนับสนุนทางมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชวิจัยและพัฒนาขึ้นจนได้ผลงานที่สามารถใช้ได้จริง วช.และ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชจึงเห็นพ้องเพื่อส่งมอบแก่ทางองค์การเภสัชกรรมและกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้นำไปใช้ต่อไป ”
ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า หน้ากาก N99 เป็นหน้ากากที่ผลิตในประเทศไทย เหมาะสำหรับใบหน้าคนไทย ผ่านการประเมินตรวจสอบคุณภาพแล้ว ไม่ใช่หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ใช้งานได้เป็นเวลา 6 เดือนหรือ 180 วัน และนำมาล้างทำความสะอาดเพื่อใช้ซ้ำได้ประมาณ 100-200 ครั้ง ซึ่งการส่งมอบให้ 4,000 ชิ้น(กรุงเทพมหานคร 1,000 ชิ้น องค์การเภสัชกรรม 3,000ชิ้น)เท่ากับสามารถทดแทนN95 ได้ถึง400,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหน้ากากรุ่นที่ 2 มีวาล์วเพื่อให้หายใจเข้าออกได้ผ่านไส้กรอง ช่วยให้ผู้สวมใส่หายใจได้สบายขึ้น ส่วนหมวก PAPR มีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสุด ช่วยให้ผู้สวมใส่มีความปลอดภัย ผลิตได้จริงมีมาตรฐาน หากต้องการมากก็สามารถผลิตได้ทันที
“การจัดมอบอุปกรณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศเราทำได้และขณะนี้เรามีเพียงพอที่จะใช้งานแล้ว การที่เราผ่านวิกฤติรอบที่ 1 มาได้เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งความเข้มแข็งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนช่วยกัน รวมถึงอสม. และในการระบาดรอบ2 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เราจะต้องมีความเข้มแข็งต่อไปและร่วมกันฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันจะต้องมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการสืบสวนสอบสวนโรคอยู่ตลอดเวลา เมื่อพบผู้ติดเชื้อมีการแยกผู้ติดเชื้อและรักษา และทุกคนจะต้องดูแลความปลอดภัยส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงที่มีคนอยู่จำนวนมาก”
ในส่วนของความคืบหน้าด้านวิจัยวัคซีนโรคโควิด-19ของไทยนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์กล่าวว่า “การวิจัยที่เราทำจะมีอยู่3มิติ 1. คือการวิจัยเพื่อให้เราแน่ใจว่ามีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีความอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราผลิตได้แล้วและสามารถส่งออกได้ด้วย 2.การวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการสอบสวนโรค รวมถึงการวิจัยเชิงลึก เช่น การศึกษารหัสพันธุกรรม การกลายพันธุ์ เป็นต้น
3.การสนับสนุนเรื่องวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ไทยผลิตใกล้นำมาใช้ได้แล้ว เราทำตั้งแต่ต้นจนจบใช้งานได้เลยและเรายังมีการต่อยอดวัคซีนในต่างประเทศ ขณะนี้วัคซีนของไทยอยู่ในช่วงของการผลิตขั้นสุดท้ายเพื่อที่จะทำการทดสอบประสิทธิภาพก่อนใช้งานจริง ผลการประเมินประสิทธิภาพถึงปัจจุบันเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เชื่อว่า วัคซีนที่ทำได้เราจะสามารถใช้งานได้”