พาณิชย์ ขยายผลยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” จับมือ 7 พันธมิตรด้านวิจัย-นวัตกรรม หนุน SMEs เชื่อมโยงตลาดกับนวัตกรรมสร้างสรรค์อนาคต
พาณิชย์ ขยายผลยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” สยายปีกต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ตลาดสากล จับมือ 7 พันธมิตรด้านวิจัยและนวัตกรรม สนับสนุน SMEs เชื่อมโยงตลาดกับนวัตกรรมสร้างสรรค์อนาคต
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการ ขยายตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีระดับโลก จัดกิจกรรมเสวนา และพิธีลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ภายใต้แนวคิด “เชื่อมตลาดกับนวัตกรรม สร้างสรรค์อนาคต” ผสานศักยภาพความแข็งแกร่งด้านการตลาดผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์จัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจของของประเทศมีความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับรายได้ของประเทศ โดยเน้นการนำเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของไทย
ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้มอบหมายให้ผลักดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ กระทรวงพาณิชย์ต่อยอดขยายความร่วมมือไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีนโยบายผลักดันผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและส่งเสริมธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หวังเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศด้วยสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้
ชี้โอกาสมีอีกมาก ขอให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อม ปรับตัว พัฒนา เพื่อที่จะไปดักความต้องการของตลาดในอนาคต ชิงสัดส่วนตลาดโลก ปรับฐานสู่การค้ายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ต่อไป
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งผู้ประกอบการและนักวิจัย โดยเป็นการผสานพลังระหว่างสองกระทรวงในการที่จะเชื่อมโยงตลาดและการผลิต พัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้เข้มแข็งสู้กับคู่แข่งของไทยได้
สำหรับภาคการวิจัยของไทยนั้น นับว่ามีความก้าวหน้ามากในระดับสากล และเมื่อประกอบกับแต้มต่อด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าไทยมีจุดแข็งและมีโอกาสที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ไม่ยาก จึงต้องเร่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น SME หรือ Micro SMEs รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการ Social Enterprise ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ มาตรฐาน รวมทั้งคุณลักษณะให้มีความแตกต่าง เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับสากล
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในกิจกรรมเสวนาและพิธีลงนามข้อตกลงในวันนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งเป้าจะลดช่องว่างระหว่างตลาดกับการวิจัยและนวัตกรรม สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยและผู้ประกอบการไทย โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก โดย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ความต้องการสินค้านวัตกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ โดยทูตพาณิชย์ 4 แห่ง เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และยังมีการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ตลาดเป็นโจทย์หลักก่อนจะทำการวิจัยยกระดับสินค้า ซึ่งล้วนเป็นบริษัทดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ได้แก่ ขนมสัตว์เลี้ยงทำจากแมลง (LAIKA) นวัตกรรมน้ำผลไม้ปลอดน้ำตาลและแคลอรี่ (JuiceInnov8) และ อาหารออร์แกนิคแปรรูปจาข้าวไรซ์เบอรี่ (Jasberry)
นอกจากนี้ หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 7 แห่งยังได้นำตัวอย่างกรณีความสำเร็จที่ผลงานวิจัยที่ออกสู่ตลาดแล้ว โดยนำมาจัดแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลในให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งแต่ละรายมีที่มาและนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เจลล้างมือป้องกันเชื้อโควิดที่ปกป้องยาวนาน 12 ชั่วโมงชนิดแรกในโลก (Besuto 12) นวัตกรรมวัสดุปิดแผลชนิดเจล (blu by Novatech) เครื่องฉายแสงกำจัดแบคทีเรียและไวรัสควบคุมด้วย IOT (Maneejun) และนวัตกรรมน้ำผึ้งพร้อมชง (Bee Smile) เป็นต้น
โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระ ทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและส่งเสริมธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและต่อยอดผู้ประกอบนวัตกรรมสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในด้านพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และการสร้างโอกาสทางการค้า อาทิ กิจกรรมจับคู่ผู้ประกอบการและนักวิจัยร่วมกันพัฒนาสินค้านวัตกรรม (Smart Value Creation) กิจกรรมบ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากล (IDEA LAB) การนำผู้ประกอบการไปขยายตลาดในงาน Top Thai Brand ณ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งการนำสินค้านวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานพันธมิตรไปจัดแสดงและจำหน่ายในงานแสดงสินค้านานาชาติ THAIFEX ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจมาก ในปี 2563 มีผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมได้รับการส่งเสริม 100 ราย และสามารถสร้างมูลค่าซื้อขายได้กว่า 160 ล้านบาท
ในปี 2564 แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) กรมตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าซื้อขายสินค้านวัตกรรมให้ได้สูงขึ้น 2 เท่า และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมด้านวิจัยและนวัตกรรมเป็น 150 ราย โดยวางแผนส่งเสริม 4 แนวทางหลัก ได้แก่
1) การเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลที่มีคุณภาพเกี่ยวกับตลาดให้กับนักวิจัยเพื่อเข้าถึงความต้องการและแนวโน้มตลาดโลก อาทิ โครงการ DITP business AI เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของตลาดต่างประเทศ
2) การยกระดับผู้ประกอบการส่งออกของไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ เป็น 3 กิจกรรม Smart Value Creation (กิจกรรมจับคู่ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมตาม demand จับคู่กับ นักวิจัย เพื่อเลือกซื้อ/ใช้ผลงานวิจัยที่มีอยู่ หรือ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของตลาดโลกร่วมกัน โดยสามารถขอรับทุนจากหน่วยงานพันธมิตรได้)
3) การต่อยอดผู้ประกอบการจากหน่วยงานนวัตกรรมให้ได้รับโอกาสขยายช่องทางทางการค้าระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก และผ่านกิจกรรมของกรม เช่น เข้าร่วมงาน Thaifex ในคูหา Innovation Design Zone หรือ นิทรรศการ TIDE (Thailand Innovation & Design Exhibition) รวมทั้งเข้าร่วมเจรจาการค้าในงานงานแสดงสินค้าในตปท. (OBM) และ การจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศและเจรจาแบบออนไลน์ (Mirror & Mirror) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กรมได้เร่งปรับรูปแบบเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นพิเศษ โดยในเดือนมิถุนายน กรมกำหนดจัดกิจกรรม Mirror & Mirror ณ นครโฮจิมินห์ สำหรับสินค้านวัตกรรมโดยเฉพาะ
4) การร่วมมือกันเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางช่องทางกรมและพันธมิตรด้านนวัตกรรม
อนึ่ง หน่วยงานวิจัย 7 แห่งที่ร่วมลงนาม MOU ได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.)
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช./NIA)
- หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. )
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ตามที่กรมกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 นั้น ตนเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างพันธมิตรภายใต้ MoU นี้ จะทำให้กรมสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ได้เร็วกว่ากำหนด และจะช่วยขับเคลื่อนภาคการค้าไทยให้ก้าวกระโดดไปข้างหน้า พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศของไทยให้แข่งขันได้ในเวทีสากลอย่างแน่นอน นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวทิ้งท้าย