กลเม็ดเคล็ดลับรักษา “เซ็บเดิร์ม”
“เซ็บเดิร์ม” หรือโรครังแคนั้น คนทั่วไปคิดว่า เกิดขึ้นเฉพาะบนศีรษะ แต่ความจริงแล้วพบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้าและอาจลามมาที่อกและหลัง ในผู้ชายที่มีหนวดก็สามารถเป็นได้ การรักษาส่วนใหญ่ถ้ากรณีที่เป็นไม่มาก นพ. รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์ อุปนายกวิเทศสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกลเม็ดเคล็ดลับรักษา “เซ็บเดิร์ม” ที่สามารถทำได้ไม่ยาก
นพ. รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์ อุปนายกวิเทศสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เราจะใช้แชมพูกำจัดรังแค ที่มีส่วนผสมของยาขจัดรังแค เช่นสารซิงค์ โพลิไธออน,ไซโคลพิรอกซ์ โอลามีน หรือซีลีเนียม ซัลไฟด์ หลักการของการฟอกการสระ นั้นต้องทำเบา ๆ ห้ามเกา ใช้มือคลึงเบา ๆ แล้วก็ทิ้งเอาไว้อย่างน้อยประมาณ 2-3 นาที ให้ตัวยาออกฤทธิ์ และสะเก็ดอ่อนตัวหลุดออกไป แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำธรรมดา บางตัวทำให้ผมแห้ง หรือกลิ่นแรง ก็สามารถเลือกใช้ตัวแชมพูอื่นชะล้างโดยเร็วอีกรอบได้ โดยที่ไม่ต้องเกา หรือบางท่านที่ผมแห้งก็ใช้แค่ครีมนวดผมจับปลายเส้นผมได้
ในบางรายที่สะเก็ดติดหนังศีรษะหนาทำอย่างไรได้บ้าง ก่อนที่จะสระผมให้ใช้น้ำมันมะกอกแตะที่หนังศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 15 ถึง 30 นาทีให้สะเก็ดมันร่อนนุ่ม ๆ แล้วค่อยสระผม แต่ห้ามแกะเพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น ในกรณีที่ใช้แชมพูดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับแชมพูที่เป็นยา วิธีการใช้จะเหมือนกัน อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเคล็ดลับสำหรับคนที่เป็นรังแคของใบหน้า อาจใช้ฟองแชมพูสำหรับสระผมให้โดนในบริเวณที่มีผื่น ทิ้งไว้สั้น ๆ สัก 1 นาทีแล้วล้างออกอาจจะช่วยในการรักษาและป้องกันได้
คนที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์มีความเข้มข้นต่าง ๆ บริเวณศีรษะ แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นน้อย ๆ จะมีในรูปของโลชั่นหยอดศีรษะ หรือเป็นยาครีมสำหรับผิวหนังทั่วไป โดยทาวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์พอดีขึ้นก็หยุด ในบางคนที่เป็นบ่อย ๆ แนะนำว่าการป้องกันคือ ใช้แชมพูขจัดรังแคกับแชมพูปกติสลับกันไป และเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเริ่มมีอาการรำคาญ ก็ค่อยมาใช้ยาสเตียรอยด์ที่พูดถึง
ในบางรายที่กลัวสารสเตียรอยด์ ก็มียาหลาย ๆ ตัวที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อรา เพราะบางคนที่เป็นรังแคส่วนหนึ่งของคนไข้จะมีเชื้อรา คือ เชื้อยีสต์หรือเชื้อเกลื้อน สูงกว่าคนปกติทั่ว ๆไปแต่ต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะว่าตัวเชื้อยีสต์กับตัวเชื้อเกลื้อนนี้พบได้บนผิวของทุกคน อาจจะไม่มี 100% แต่ว่าคนไหนก็ตามที่มีผิวหนังมัน คนที่ออกกำลังกายเหงื่อออกเยอะ ๆ อาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเกลื้อนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดรังแคขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในบางราย การใช้ครีมฆ่าเชื้อรากคีโตโคนาโซล (ตัวแม่แบบคือตัวไนโซรัล) ให้ทาบริเวณที่เป็นเช้า – เย็น ข้อดีของการใช้คีโตโคนาโซล คือสามารถใช้ป้องกัน และทาเป็นครั้งคราวได้ ยาทาตัวอื่น ที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ คือ เรียกว่ายากลุ่ม calcineurin inhibitor ได้แก่ Protopic กับ Elidel ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง พอเริ่มดีขึ้นก็ลดเป็นวันละครั้ง พอหายก็หยุด ผลข้างเคียงของยา 2 ตัวนี้ คือทาแล้วอาจจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ บ้างในช่วงแรก ๆ สามารถใช้ในการป้องกันได้ในกรณีที่เป็นบ่อย ๆ หรือเป็นประจำ ใช้ทา สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น จันทร์- พุธ – ศุกร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ แต่ถ้ามขึ้นมาเยอะมาก ๆ จะต้องไปใช้ยาสเตียรอยด์ สลับไปมาก็จะสามารถคุมอาการได้
นพ.รัฐภรณ์ กล่าวว่า สุดท้ายจะมีครีมที่จัดอยู่ในกลุ่มครีมบำรุงผิวบางตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยในเรื่องของเซ็บเดิร์มได้ดี ได้แก่ Atopiclair และ Sebclair สามารถที่จะใช้แทนครีมบำรุงผิวหรือ มอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ในการรักษาและป้องกัน แต่ในกรณีที่หยุดใช้ยาแล้วยังมีเห่อขึ้นเป็นครั้งคราวอาจต้องกลับไปใช้กลุ่มยารักษาที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น
การใช้น้ำเกลือล้างกรณีเป็นเซ็บเดิร์ม มิใช่การรักษา ใช้ได้ในกรณีที่มีสะเก็ดเยอะ ๆ สะเก็ดหนา ๆ หรือหากจะประคบให้ใช้น้ำต้มสุกสะอาดหรือน้ำต้มสุกที่ผสมเกลือก็ได้ หรือน้ำเกลือที่หาซื้อได้ทั่วไปก็ได้ ประคบเพื่อให้สะเก็ดมันนุ่มอาจจะใช้น้ำมันมะกอกให้สะเก็ดมันหลุด โดยให้เอาผ้าก๊อซประคบค่อย ๆ ดึงออกมาเบา ๆ สะเก็ดมันจะหลุดเอง