สสส.-กรมควบคุมมลพิษ-TPBS หนุน จ.ฉะเชิงเทรา นำร่อง ‘ไม่เผา เราทำได้’


สสส.-กรมควบคุมมลพิษ-TPBS หนุน จ.ฉะเชิงเทรา นำร่อง ‘ไม่เผา เราทำได้’ ลด PM2.5 ชาวนา 600 ครัวเรือนตื่นตัวลงชื่อเข้าร่วม ‘ราชสาส์นโมเดล’ หวังใช้ภาคเกษตรเป็นต้นแบบกู้สถานการณ์ความรุนแรงกระทบสุขภาพทั่วประเทศ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “ราชสาส์น รวมใจ ไม่เผานา” เพื่อลดฝุ่น PM2.5 อ.ราชสาส์น ภายใต้โครงการไม่เผา เราทำได้ โดยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ PM2.5 เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่า พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ คือ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกินเกณฑ์มาตรฐานเพียงบางพื้นที่ ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี และภาคใต้ อากาศดีมาก
กิจกรรมครั้งนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ในพื้นที่ภาคกลางพบว่ามีการเผาในที่โล่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในหลายพื้นที่อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ โดยใช้ความสามารถของผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือ Prime Mover ในด้านความคิด การพัฒนา ส่งเสริมให้มีการสื่อสารและร่วมมือแก้ปัญหาคู่กับภาคเอกชนหรือ บรรษัทบริบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ หัวหน้าโครงการ Prime Mover สสส. กล่าวว่า แนวคิดลดการเผาในที่โล่งของภาคเกษตรพื้นที่ อ.ราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา คือ ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจการทำนาวิถีใหม่ โดยไม่เผา ให้ชาวนามีความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติฝุ่น PM2.5 มากขึ้น สร้างกระแสสังคม เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วหันมาใช้วิธีการไถกลบแทน และใช้กลไกการจัดการชุมชนเข้ามาสนับสนุน โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าโครงการ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่สอดส่องดูแล ตักเตือน ห้ามปราม หากพบมีการกระทำความผิด ส่วนการจับกุมจะเป็นวิ ธีสุดท้าย โดยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 จะมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชาวนาและชมการสาธิตจากวิทยากรผู้มีความรู้ ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา

นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ชาวอำเภอราชสาส์นประกอบอาชีพทำนากว่า 1,200 ครัวเรือน มีพื้นที่นาประมาณ 3 หมื่นไร่ และส่วนใหญ่มีแหล่งน้ำเข้าถึง ทำให้สามารถทำนาได้มากถึง 3 รอบ/ปี เพื่อความคุ้มค่าชาวนาจึงเลือกวิธีเตรียมดินที่สั้นที่สุด คือ กำจัดตอซังด้วยการเผา เพราะใช้เวลาเร็วและลดต้นทุนการผลิตได้มาก ด้วยค่าเช่าที่นาเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่/ปี


นอกจากนี้ชาวนายังมีความเข้าใจว่า การเผาส่งผลดีต่อการกำจัดวัชพืชและข้าวด้อยคุณภาพ (ข้าวดีด) แต่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล 4-5 ปี และการเผานั้นยังช่วยลดต้นทุน เหลือเงินเก็บ ทำให้เปลี่ยนแปลงวิธียาก การเผาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผลพิษทางอากาศ PM 2.5 ในพื้นที่อย่างหนักในปี 2563 จึงเกิดขึ้น ‘ราชสาส์นโมเดล’ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 อ.ราชสาส์น ภายใต้โครงการไม่เผา เราทำได้ เพราะเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายกับชาวนาไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจ ในการนี้มีชาวนาเข้าร่วมลงนามสัตยาบันว่าจะหยุดเผาแล้วกว่า 600 ครัวเรือน