“คลัง”ส่งมอบที่ดินราชพัสดุบางละมุง 649 ไร่ หนุน พม.พัฒนาเมืองสร้างสุขต้นแบบอาเซียน
“คลัง”มอบที่ราชพัสดุบางละมุง ส่งต่อ พม. ขับเคลื่อนต้นแบบ “เมืองสร้างสุข” กว่า 649 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 267 รายการ ดันเป็นฮับด้านการยกระดับสวัสดิการพัฒนาสังคมในระดับอาเซียน พร้อมหนุนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีอีซี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.219 (บางส่วน) ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ว่า วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2564) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ส่งมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.219 (บางส่วน) ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 649-0-72 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 267 รายการ ให้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านสังคม “เมืองสร้างสุข (Happiness Social City)” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และอบรมด้านสวัสดิการสังคมในระดับอาเซียน และศูนย์ที่พักผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้การนำพื้นที่ราชพัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในครั้งนี้ ถือเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล มอบให้ พม.ดำเนินโครงการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชลบุรีให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภายใต้เขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์การดำเนินงานด้านอาเซียน โดยการขับเคลื่อนแผนงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สูงวัยที่เพิ่มขึ้น
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้กรมธนารักษ์ ดำเนินการนำที่ดินราชพัสดุที่ส่งมอบคืนไปใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุดเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการมอบที่ราชพัสดุให้กับ พม. เป็นไปตามแผนงานหลักโดยการนำไปใช้พัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านสังคม “เมืองสร้างสุข (Happiness Social City)” ที่พร้อมให้บริการกับประชาชน
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แบ่งออกเป็นพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ ประกอบด้วย 1.สำหรับให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายแบบครบวงจร (Center Club House) อาทิ ศูนย์ให้บริการทางการแพทย์ ศูนย์ฝึกอาชีพ พื้นที่ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่างๆ 2. ศูนย์บริการของหน่วยงาน พม.ในพื้นที่ เพื่อให้บริการด้านสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง และศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุจังหวัดชลบุรี เป็นต้น 3.พื้นที่สำหรับให้บริการในเชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์การประชุม โรงแรม และCommunity Mall และ 4. ศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ซึ่งอยู่ในการครอบครองของกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่ติดชายทะเล เนื้อที่ 48 ไร่
นายจุติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านสังคม “เมืองสร้างสุข (Happiness Social City)” ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ด้วยรูปแบบเชิงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามนโยบายรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ รวมทั้งครอบครัว โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ทุกช่วงวัย สู่การยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบของหุ้นส่วนการพัฒนา เป็นการลดการพึ่งพา จากภาครัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ด้านนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “เมืองสร้างสุข” พม.มีการศึกษามาหลายปี มีแบบแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนที่1 เป็นหน่วยงานของกระทรวงที่มีอยู่แล้ว 9 หน่วยงาน โซนที่ 2 เป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุ(Senior Complex)ประมาณ 2,000 ห้องโดยเดิมศึกษาไว้ว่า อาจแบ่งเป็น3โซนเล็ก ๆ 1.)สำหรับผู้สูงอายุยังช่วยตัวเองได้ 2.)กลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยต้องรักษาพยาบาลและ3.)กลุ่มผู้สูงอายุเจ็บป่วยระยะสุดท้ายต้องดูแลพิเศษ และโซนที่ 3 ที่เป็นพื้นที่การพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า โรงแรมเพื่อให้คนที่อยู่อาศัยได้ใช้บริการ
ส่วนราคาก่อสร้างอาจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง(PPP)เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหมาะสมและรองรับกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งพม.ดูแลอยู่ด้วย โดยจะมีการออกแบบเหมาะสมและเป็นไปวัตถุประสงค์ใหม่ของกรมธนารักษ์ที่ให้ใช้ที่พัสดุจากเดิมเพื่อบริการประชาชน มาเป็นเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ด้วย
ทั้งนี้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี โดยต่อจากนี้จะเป็นขั้นตอนประกาศหาเอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งหากเอกชนมาร่วมได้เร็วก็จะเริ่มก่อสร้างได้เร็ว คาดว่าจะเป็นภายในปีนี้