ปลุกพลังเยาวชนรู้เท่าทันปัญหาน้ำเมา จวกธุรกิจเหล้าเบียร์เลี่ยงกฎหมาย ทำการตลาด ฟันกำไรมหาศาล สร้างปัญหากระทบสังคม-เศรษฐกิจ
ปลุกพลังเยาวชนรู้เท่าทันปัญหาน้ำเมา จวกธุรกิจเหล้าเบียร์เลี่ยงกฎหมาย ทำการตลาด ฟันกำไรมหาศาล สร้างปัญหากระทบสังคม-เศรษฐกิจ
วันนี้ (18กุมภาพันธ์ 2564) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีเสวนา“เยาวชนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย” โดยหยิบยกประเด็นผลกระทบและบทบาทสำคัญของเยาวชน สู่การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยกว่า 18 ล้านคนดื่มสุรา และในรอบ12 เดือนที่ผ่านมา กว่าร้อยละ40 เป็นนักดื่มประจำ โดยกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มดื่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และข้อน่าห่วง คือ พฤติกรรมการดื่มหนัก หรือ ดื่มจนเมาหัวราน้ำ สำหรับบทบาทงานรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มองว่าตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯถือว่าปัญหาลดลง กฎหมายนี้มีคุณูปการสำคัญต่อการปกป้องเด็กเยาวชนและสังคมไทย เครือข่ายเยาวชนฯ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับกฎหมาย ได้แก่1.รณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน 2.สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เช่น ห้ามขายเหล้าให้ผู้มีอายุต่ำกว่า20ปี การขายเหล้าในหอพัก เป็นต้น และ3.นำเสนอมาตรการทางนโยบายเพิ่มเติม เช่น การควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา (Zoning)การห้ามดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง เป็นต้น
“กว่า13ปีที่กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ ถือเป็นเครื่องมือจัดการปัญหา ลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ แต่ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เช่น ค่านิยมเรื่องเสรีภาพทางด้านการดื่มของคนรุ่นใหม่ที่อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่คาดไม่ถึง เนื่องจากข้อมูลวิชาการหลักฐานเชิงประจักษ์ พบว่าไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่มแอลกอฮอล์ ประเด็นต่อมาคือปัญหาที่กลุ่มธุรกิจเหล้ายังคงมองเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายทางการตลาดจึงพยายามทำทุกทางให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายไม่เว้นแต่ความพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายเช่น ใช้ตราเสมือนโฆษณา และพยายามขอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ของบางกลุ่ม กลับจะทำให้กฎหมายที่ประชาชนร่วมเสนอกว่า13 ล้านคนให้อ่อนแอลง เช่น ยกเลิกการควบคุมการโฆษณาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมสินค้าประเภทนี้ การเปิดช่องให้มีการแจกให้ชิม การให้มีตัวแทนธุรกิจน้ำเมาเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการฯ เป็นต้น”นายธีรภัทร์ กล่าว
นายสุรนารถ แป้นประเสริฐ อดีตแกนนำเยาวชนชุมชน กทม. กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเข้าร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากในอดีตช่วงที่หลงทางติดยาเสพติด และได้ตามพ่อไปทำกิจกรรมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แรกๆก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้พูดคุยกับคนติดเหล้า คนพิการเหยื่อเมาแล้วขับ ครอบครัวที่แตกแยก คนที่ถูกคนเมาข่มขืนทำร้าย จนทำให้ซึมซับ และเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแกนนำเยาวชนและสร้างเครือข่ายชุมชนจนถึงปัจจุบัน โดยใช้กฎหมายนี้ขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด แต่ด้วยการรุกทำการตลาดออนไลน์ของผู้ประกอบการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงสิ่งนี้ได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว มิหนำซ้ำยังใช้ช่องโหว่ของกฎหมายทำธุรกิจด้วยการโฆษณาโลโก้เสมือนจริงแฝงบนน้ำดื่มและโซดา ทำให้เด็กเกิดภาพจำ นำไปสู่การเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเดินหน้าสร้างเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดึงเด็กและเยาวชนในชุมชนออกจากปัจจัยเสี่ยง ให้หันมาทำงานด้านบวก ขับเคลื่อนการทำงานบนฐานย่อยในชุมชนด้วยการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข
“ธุรกิจน้ำเมามีกำไรมหาศาล แต่นายทุนกลับขาดความรับผิดชอบ ใช้สื่อออนไลน์ดึงเยาวชนให้เข้าถึงวงจรเหล้าโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงด้านยาเสพติด สร้างปัญหาตามมาระยะยาว หากผู้ประกอบการยังไม่รับผิดชอบต่อสังคม และใช้วิธีการเลี่ยงข้อกฎหมาย ที่ตีความไม่ชัดเจนเพื่อขายเหล้าให้เยาวชน ทางแกนนำและเยาวชนจะเดินหน้าสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่ามีผู้กระทำเรื่องเช่นนี้อยู่และจะสู้ให้ถึงที่สุด อีกอย่างที่ต้องการสื่อสารคือกฎหมายฉบับนี้มีการเตรียมการศึกษายกร่างไว้ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนมาเราก็จะผลักดันกันอยู่แล้ว ดังนั้นการยัดเยียดว่านี่เป็นกฎหมายเผด็จการจึงไม่เป็นธรรมกับเรา”นายสุรนารถกล่าว
นางสาวจิราภรณ์ กมลรังสรรค์ นักวิ่งเพื่อสุขภาพ อดีตแกนนำนักเรียนนักรณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนยังเป็นเหยื่อเป็นเป้าหมายการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขาตั้งใจทำให้เยาวชนติดเหล้าให้ได้เร็วๆจะได้เป็นลูกค้าในระยะยาว ดังนั้นเยาวชนต้องรู้เท่าทัน ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อทางการตลาด พวกเราเยาวชน มีคุณค่ามากกว่าจะตกเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเราสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือเลือกปฏิเสธสิ่งที่จะมาทำลายชีวิตเรา ครอบครัวเรา สังคมเรา ทั้งนี้ สำหรับตนที่เคยทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ป้องกันเยาวชนจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นช่วงที่ภาคภูมิใจในชีวิต สิ่งที่เห็นในวันนี้มันคือเครื่องพิสูจน์ชัดเจนและหนักแน่นว่าที่ร่วมลงแรงผลักดันให้เกิดกฎหมายในวันนั้น วันนี้สามารถช่วยลดคนเจ็บคนตาย ลดคนทุกข์ยากที่เป็นเหยื่อลงไปได้บ้าง
ด้านนายอัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นอายุ17ปี คึกคะนอง ติดเพื่อนชอบสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดว่านั่นคือเสรีภาพ ไม่ได้หนักหัวใคร จนวันหนึ่งก่อเหตุร่วมกับเพื่อน11คน รุมทำร้ายคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ต้องเสียชีวิต จนถูกดำเนินคดีเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ ก้มหน้ารับชะตากรรม ช่วงที่อยู่ในนั้นได้เจอเพื่อนที่ดื่มสุราแล้วก่อเหตุ ได้คิดทบทวนตัวเอง ว่าสุราทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และตอนนั้นก็เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ด้วย หลายครั้งที่เป็นตัวแทนได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องในนามเยาวชนที่ก้าวพลาด กระทั่งพ้นโทษออกมาก็มาทำงาน ช่วยรณรงค์ควบคุมปัญหาที่เกิดจากสุรา ผลักดันทุกเรื่อง ส่วนที่อยากให้เกิดผลสำเร็จในกฎหมายฉบับนี้ คือควบคุมโฆษณาแฝง โฆษณาออนไลน์ หากควบคุมได้จะช่วยลดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก