อพท. เปิด “โครงการ #คิดถึงชุมชน” ช่วยพิษโควิด-19 บูรณาการซัพพลายเชนอุตฯท่องเที่ยวไทยแบบยั่งยืน
อพท. เปิดตัวโครงการ #คิดถึงชุมชน ผนึกพันธมิตรตลอดห่วงโซ่ซัพพลายเชนช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว หลังพ้นโควิด-19 นำเสนอชุมชนท่องเที่ยวในช่องทางการขายผ่านบริษัทนำเที่ยวภายใต้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 8 สมาคมท่องเที่ยว ทั้ง ททท. สสปน. และเคทีซี ร่วมสนับสนุนช่องทางการตลาดเป้าหมายกลุ่มลูกค้าคุณภาพ คาดเงินสะพัดกว่า 50 ล้านบาท เผยเป็นโครงการนำร่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้ระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ อพท. ได้รับมอบนโยบายจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้หน่วยงานในความรับผิดชอบ เร่งพัฒนาโครงการที่จะเข้ามาเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้งบประมาณประจำปีที่ได้รับจัดสรร อพท. จึงได้เปิดตัวโครงการ #คิดถึงชุมชน เพื่อช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว
โครงการ #คิดถึงชุมชน แบ่งเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น เริ่มจากสร้างการรับรู้ให้กับดีมานด์ (Demand) ของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยการนำเสนอและจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม SMART DASTA ควบคู่ไปกับการสร้างเรื่องราวให้ผู้คนที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้รู้จักชุมชนเจ้าของสินค้าไปพร้อมๆกัน เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติจะเกิดการเดินทางไปเยี่ยมชมสัมผัสเสน่ห์ เรื่องราว และอัตลักษณ์ของชุมชน
ระยะกลาง (Post Covid-19) เมื่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายลง ผู้คนเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยว อพท. จะสร้างการรับรู้ในความเชื่อมั่นในมาตรฐานชุมชนท่องเที่ยวที่ได้ผ่านการพัฒนาจาก อพท. ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการซื้อผ่านบริษัทนำเที่ยวด้วยการนำเสนอขายโปรแกรมท่องเที่ยวที่ผนวกสินค้าและกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าไป โดยความร่วมมือส่งเสริมการตลาดร่วมกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 8 สมาคมการท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่าย และภาคธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ระยะยาว อพท. จะเก็บข้อมูลจากการทำการตลาดและการเดินทางท่องเที่ยวจริงของนักท่องเที่ยวมาพัฒนาต่อยอด คู่ไปกับการสานต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตร เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นที่ต้องการของตลาดคุณภาพในระยะยาวต่อไป เพื่อเป็นการต่อยอดกระแส #คิดถึงชุมชน ให้เกิดการเดินทางมาเที่ยวซ้ำ และจับจ่ายสินค้าของที่ระลึกจากชุมชน
การดำเนินโครงการ #คิดถึงชุมชน ในครั้งนี้ อพท. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านตลาดการท่องเที่ยวร่วมสนับสนุนโครงการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมต่อยอดนำเสนอโปรแกรมนำเที่ยวชุมชนท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Tourism Department Store และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ช่วยต่อยอดสนับสนุนบริษัทนำเที่ยวที่นำนักท่องเที่ยวจัดประชุม สัมมนาและกิจกรรม CSR ในชุมชน ภายใต้โครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า นับเป็นการร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยว และส่งเสริมให้ชุมชนท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
สำหรับโครงการ #คิดถึงชุมชน เบื้องต้นจะมีชุมชนที่ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. ซึ่งได้รับรางวัล DASTA AWARD 2019 จาก อพท. และมาตรฐาน SHA มีศักยภาพพร้อมขายเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 70 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่พิเศษและเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยจะเริ่มเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่นำชุมชนท่องเที่ยวพร้อมขายดังกล่าวผนวกในโปรแกรมนำเที่ยวมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจต่อไป
ถือเป็นโอกาสที่ อพท. ได้นำภารกิจองค์กรมาช่วยเหลือเยียวยาชุมชนท่องเที่ยวและภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ก่อให้เกิดรายได้และการกระจายรายได้จากการซื้อแพกเกจท่องเที่ยวที่ผนวกกิจกรรมชุมชนท่องเที่ยวสู่ชุมชนท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยวและซัพพลายเชนตลอดห่วงโซ่อุปทานทางการท่องเที่ยวที่อยู่ในแพกเกจท่องเที่ยว
คาดการณ์ว่าจะเกิดรายได้หมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท และก่อให้เกิดการทวีคูณของรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่เมื่อเทียบจากผลงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าทวีคูณ 2.09 เท่า จึงเป็นเงินรายได้ที่จะเกิดขึ้นกว่า 50 ล้านบาท จึงนับเป็นโครงการที่บูรณาการการทำงานร่วมกันที่ทำให้เกิดระบบการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืนที่แท้จริง