วศ.อว. ยกทีมนักวิทย์เยี่ยมชมแลปกัญชา-กัญชง

วศ.อว. ยกทีมนักวิทย์เยี่ยมชมแลปกัญชา-กัญชง วพ. หวังสร้างความร่วมมือต่อยอดงานวิจัยด้านการวิเคราะห์สารสำคัญเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจใหม่

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดยนางอาภาพร สินธุสาร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชุมชน พร้อมด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสำนักเทคโนโลยีชุมชน และกองอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสกัดจากกัญชาและกัญชง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการในการตรวจสอบวิเคราะห์และวิจัยสารสำคัญในกัญชาและกัญชง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวสุรัชนี เศวตศิลา ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด และคณะให้การต้อนรับ ณ ห้องปฏิบัติการ วัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี

การเยี่ยมชมชมห้องปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ วศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญในกัญชาและกัญชงแบบครบวงจร เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสาระสำคัญในกัญชา-กัญชง ไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น เยลลี่ มาร์คหน้า แชมพู สบู่ เป็นต้น ดังนั้น การเตรียมตัวอย่างก่อนการวิเคราะห์หาสารสำคัญจึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาโดยละเอียดและถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และหากจะนำสารสกัดกัญชาและกัญชงมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ก็ควรได้วัตถุดิบมาจากแปลงปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์และได้รับรอง GAP เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดชอบดูดซับโลหะหนัก (โดยเฉพาะแคตเมียม) และยาฆ่าแมลง


ทั้งนี้ ในอนาคตทั้ง วศ. และ วพ. จะมีความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญจากกัญชาและกัญชงให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ประชาชน จากการใช้ประโยชน์ของพืชเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานในระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป