สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ MOUมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมมือบริการวิชาการ- วิจัยพัฒนาวิทย์-เทคโนฯป้องกันประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่ายในการดำเนินงานด้านบริการวิชาการ การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การวิจัยและพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายโดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ


พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านบริการวิชาการ การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564 ณ SUT Co-Working Space อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้งสองสถาบันคือ พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และรองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมจัดเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Drones Market in Thailand : Now, Growth, Trends and Forecasts” แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลักดันการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า
การลงนามในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่ายในการดำเนินงานด้านบริการวิชาการ การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การวิจัยและพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายโดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ

ซึ่งโครงการนำร่องของทั้งสองสถาบันภายใต้ความร่วมมือนี้ ประกอบด้วย
1. การจัดทำค่ายการเรียนรู้ เทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลภายนอกที่สนใจ
2. ความร่วมมือในเชิงวิจัย และ Startup ระบบอากาศยานไร้คนขับเชิงธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน รวมถึงการขยายศักยภาพในการระดมทุน ด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับให้สามารถก้าวเข้าสู่สายการผลิตที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
3. ความร่วมมือในแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรของศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ สทป. ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้เป็นวิชาเลือกตามความต้องการของผู้เรียน นอกเหนือจากหลักสูตร 4 ปี ของนักศึกษา (Extra course) และบุคคลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สนใจเข้ารับการอบรม
จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสําคัญในการยกระดับโครงการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน และมีความปลอดภัยในการนำไปใช้งาน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “มทส. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิชาการ การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับ มทส. ซึ่งก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และพัฒนาขีดความสามารถในทุกด้านขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันมีคณาจารย์ นักวิจัย บุคลากรและหน่วยงานในสังกัดที่พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การปรับแปลงและถ่ายทอดเทคโนโลยี รองรับการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศในวันนี้ จะร่วมกันศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับของประเทศให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ”
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการใช้งานเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับในรูปแบบที่แตกต่างกันไปได้อีกด้วย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะร่วมกันคิดร่วมกันทำ ช่วยกันพัฒนา สร้างมาตรฐานด้านระบบอากาศยานไร้คนขับของประเทศไทย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาอื่น ๆ ให้เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต