พม. จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานวันสังคมสงเคราะห์โลก 2564 ภายใต้หัวข้อ อูบุนตู (Ubuntu)
พม. จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานวันสังคมสงเคราะห์โลก 2564 ภายใต้หัวข้อ อูบุนตู (Ubuntu) : ฉันเป็นฉันเพราะเรา-สร้างความสมานฉันท์ทางสังคมและความเชื่อมโยงกันของโลก
วันนี้ (16 มี.ค. 64) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ นางแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสังคมสงเคราะห์โลก ระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ประจำปี 2564 (World Social Work Day 2021) ภายใต้หัวข้อ “Ubuntu: I Am Because We Are” Strengthening Social Solidarity and Global Connectedness” ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีนางสาววิจิตรา รชตะนันทิกุล ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม และนางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ อาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมจากประเทศอาเซียน รวมทั้งคณะอนุกรรมการภาคีความร่วมมือสังคมสงเคราะห์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 300 คน เข้าร่วมงานดังกล่าว
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า สืบเนื่องจากสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (International Federation of Social Workers : IFSW) ได้กำหนดให้วันอังคารสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์โลก และเชิญชวนให้ประเทศทั่วโลกจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกควบคู่กันไป
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับ สมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (IFSW) และภาคีความร่วมมือสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย เป็นตัวแทนระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดงาน “วันสังคมสงเคราะห์โลก” ประจำปี 2564 (World Social Work Day 2021) ภายใต้หัวข้อ “Ubuntu: I Am Because We Are” Strengthening Social Solidarity and Global Connectedness” นับว่าเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการสังคม และการพัฒนาสังคม ระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางในระดับโลก
โดยมีกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย 1) ระดับชาติ มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “Strengthening Social Solidarity & Global Connectedness” โดย ภาคีความร่วมมือสังคมสงเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การนำเสนองานของนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ “อูบุนตู : ฉันเป็นฉันเพราะเรา-สร้างความสมานฉันท์ทางสังคมและความเชื่อมโยงกันของโลก” โดยสมาคมสภาการศึกษาสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมไทย (TASWE) ร่วมกับกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 2) ระดับนานาชาติ มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “International Social Work in a Post Covid-19 World” โดย IASSW (New York)
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งจำเป็นต้องมีและใช้องค์ความรู้ มีทัศนคติและทักษะทางสังคมสงเคราะห์ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิ สนับสนุนส่งเสริม ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และเสริมพลังแก่บุคคล ครอบครัว กลุ่มคน และชุมชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม
ซึ่ง “นักสังคมสงเคราะห์” เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อความช่วยเหลือและพัฒนาประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคม ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข ทั้งนี้ กระทรวง พม. มุ่งหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีให้สอดคล้องกับแนวคิดของงานวันสังคมสงเคราะห์โลก ประจำปี 2564 ที่ว่า “Strengthening Social Solidarity and Global Connectedness” เราจะร่วมสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม และร่วมกันเชื่อมโยงความร่วมมือกันในระดับโลก เพราะทุกคนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่มีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาชุมชนและสังคมให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป