เปิดเวทีล้อมวงวิจัย ส่องทางออกแก้น้ำแล้ง ลดเหลื่อมล้ำ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk “การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน จะนำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีหลายประเด็นอยู่ภายใต้ร่มปัญหาดังกล่าว เรื่องน้ำและจัดการที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯให้ความสำคัญและสอดคล้องกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับการที่ยูเนสโก เรียกร้องให้ทั่วโลกใช้น้ำอย่างคุ้มค่าบนฐานของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของคนในชุมชนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้การแบ่งสรรปันส่วน การบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับแนวคิดกับเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยจะเป็นต้องบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐระดับพื้นที่ ชุมชนต้องมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำขนาดเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และระดับนโยบาย ต้องมีการทำงานแบบเชื่อมร้อยกันในทุกระดับ โดยมีฐานข้อมูลอย่างข้อมูลจากงานวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงาน
ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยข้อมูลว่า งานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ยังคงมีช่องว่าง ต้องมองภาพรวมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เราพยายามจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องน้ำ ชุมชน ระบบราชการ และภาคนโยบาย ต้องทำงานที่สอดคล้องกัน ผ่านการออกแบบโจทย์วิจัย การวางแผนงานที่ชัดเจน มาตรการที่อยากเสนอแนะภาคนโยบายคือ ควรส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ควรชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ของเกษตรกร มีการจ้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร ออกแบบโครงการตามความต้องการของชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำที่ทุกส่วนราชการต้องเน้นให้ประหยัด เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ปรับการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาเป็นการแก้ไขเชิงรุก และพัฒนาสู่การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องจากภาวะแล้ง จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำมากขึ้น ปรับจากการแก้ไขปัญหาตามที่เคยทำมาเป็นการแก้ไขปัญหาบนฐานข้อมูลและการคาดการณ์อนาคตปรับจากการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการป้องกันและปรับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ อว. ต้องวางแผนงานวิจัย ให้แก้ปัญหาที่ยิงได้ตรงจุดภายในเวลาที่กระชับ ต้องมีทีมจังหวัดและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมความรู้เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงปรับวิธีคิดของผู้ใช้น้ำให้เข้าใจตรงกัน
ในขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องความยากจน แต่มีมิติของระบบนิเวศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนจ่ายภาษีเท่ากันแต่ใช้น้ำไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้ามีการจัดลำดับและปริมาณของการใช้น้ำจะช่วยสร้างความเป็นธรรมได้ ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ควรมีแหล่งน้ำชุมชน อย่างโครงการแก้มลิง หรือค้นหาพืชทดแทนอื่นนอกจากข้าว มัน อ้อย การทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนี้ในส่วนของการวางแผนของภาครัฐ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการคำนึงถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องฐานทรัพยากรที่มีอยู่ การเข้ามาของคนต่างถิ่นอาจไปเบียดเบียนฐานน้ำของชุมชน ดังนั้นน้ำต้องถูกเอามาคิดเป็นต้นทุนของการดำเนินการด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ที่มาไม่ตรงตามฤดูกาล เพื่อให้คนทั้งในเมืองและชนบทตระหนักถึงปญหาภัยแล้งที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว
ด้าน นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือจัดการน้ำให้เสมอภาคและเท่าเทียม คนรวยคนจนใช้น้ำกันอย่างเท่าเทียม ชุมชนต้องสำรวจตนเองว่าในแต่ละปีน้ำในพื้นที่ของตนมีมากน้อยเพียงพอต่อการใช้งานของตนหรือไม่อย่างไรผ่านระบบฐานข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐออกแบบไว้จนชุมชนสามารถพยากรณ์และวิเคราะห์วางแผนการทำงานได้ กระบวนการวิจัยได้เข้าไปแล้วทำให้ชุมชนรู้สึกว่า สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ตนเองเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงชีวิตและความเป็นอยู่ของเขา กล่าวคือต้องมีการปรับกระบวนการคิดเข้าหากันและ
ท้ายที่สุด รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) เป็นอีกกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาและการลงทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดย สกสว.พร้อมสนับสนุนประเด็นสำคัญในแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ ความท้าทายของประชาคมวิจัยในอนาคตคือ ต้องมองโอกาสในระยะยาวที่จะสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และเชื่อมโยงการทำงานกับชุมชน