สสส. – เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ เปิดตัว “คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ” ครั้งแรกในประเทศไทย สร้างองค์ความรู้ เสริมความเข้าใจเด็ก-เยาวชนในครอบครัว
สสส. – เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ เปิดตัว “คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ” ครั้งแรกในประเทศไทย สร้างองค์ความรู้ เสริมความเข้าใจเด็ก-เยาวชนในครอบครัว คลายกังวล “ไม่กล้าเปิดตัว-ร่างกายเปลี่ยนแปลง-อนาคตการศึกษา”
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนา เรื่องเล่าสายรุ้ง We Are Different : A Journey of the Rainbow เปิดตัว “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” เพื่อเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจผู้ปกครองให้รู้จักวิธีดูแลเด็ก-เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเนื่องด้วย ทุกวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสากลของการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (International Transgender Day of Visibility หรือ TDOV อันเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เราทุกคนจะร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ ให้ตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีสุขภาวะ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศสะท้อนมิติทางสุขภาวะ เพราะหลายคนยังขาดการยอมรับจากครอบครัว การดำเนินงานของโครงการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ความกังวลของครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ 3 ประเด็น คือ 1.ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เพราะกลัวไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว และสังคม 2.ไม่กล้าเปิดเผยหรือเปลี่ยนร่างกายให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะมีข้อจำกัดในชีวิต 3. มีความกังวลต่ออนาคตด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน
สอดคล้องกับการศึกษาอีกหลายฉบับทั้งของไทยและต่างประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนการจัดทำ “คู่มือผู้ปกครองดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจ จนเกิดพื้นที่ปลอดภัย ระหว่างพ่อ แม่ ผู้ปกครอง กับบุตรหลานหลากหลายเพศ รวมไปถึงคำแนะนำต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายเพศ เพราะสุขภาวะที่ดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน เมื่อครอบครัวรับฟังบุตรหลานด้วยความรักและความเข้าใจ เขาก็จะกล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น มีความมั่นใจและมีความสุขในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ ทำงานเชิงรุกร่วมกับ สสส. นานกว่า 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนและประสบการณ์ดูแลเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่มือฉบับนี้นอกจากแบ่งปันความรู้เรื่องสุขภาวะ ยังสะท้อนมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม ผ่านการสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาสุขภาพ และเป็นคู่มือฉบับแรก ๆ ของไทย จากการสานพลังกับภาคีเครือข่ายครอบครัว เด็ก-เยาวชน สถาบันการศึกษาที่สนใจขับเคลื่อนความเข้มแข็งเรื่องเพศทางเลือก ที่จะใช้เป็นองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาในครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ และเนื่องจากวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน International Transgender Day of Visibility หรือ TDOV ซึ่งมีความสำคัญสำหรับคนข้ามเพศ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวของพวกเขาตระหนักถึงตัวตนคนข้ามเพศให้เติบโตได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยในชีวิต
นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic ) โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่โรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิต ที่ผ่านมามีหลายครอบครัวเข้ามาปรึกษา หลังพบบุตรหลานมีชีวิตไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะมีความหลากหลายทางเพศ หลายครอบครัวต้องเผชิญกับความรัก ความทุกข์ และความตึงเครียด “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” จะมีส่วนช่วยสร้างกระบวนการพูดคุย ปรับทัศนคติทุกฝ่ายให้เข้าใจกันมากขึ้น
นางสาวมัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ กล่าวว่า วันหนึ่งที่ลูกบอกกับเธอและคู่ชีวิตของเธอว่า “หนูชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง” หลายครอบครัวอาจกังวล เพราะยังมีอคติเรื่องความหลากหลายทางเพศแต่เธอและคู่ชีวิตได้เปิดพื้นที่ให้ลูกสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจทุกเรื่อง และเราทั้งคู่ก็ทำให้ลูกได้เห็นรูปแบบความรัก ความสัมพันธ์ ความอบอุ่นที่นอกเหนือจากหญิงและชาย เธอมองว่า แต่ละครอบครัวควรจะหาเครื่องมือหรือวิธีการในการพูดคุยสื่อสารในพื้นที่ที่รับฟังกันด้วยหัวใจ คู่มือเล่มนี้ที่จะช่วยทลายกำแพงอคติทางเพศก็ได้
นางสาวศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ครอบครัวที่มีความสุข ไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น หากแต่ครอบครัวที่มีความสุขต้องยินดีและสนับสนุนให้คนในครอบครัวเลือกชีวิตทางเพศของตัวเองได้ เราเติบโตมาอยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน แต่เรามีสิทธิในการเลือกเพศของตัวเองและการที่แม่ทั้งสองเตรียมความพร้อมและมีพื้นที่การพูดคุยเรื่องเพศในบ้านได้ จะทำให้ลูกสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆภายนอกได้