‘ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ’ แห่ง มธ. ศึกษาหลักธรรม5งานวิจัย คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 64
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 5)” เชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ โดยครั้งนี้ได้เปิดตัว ศ. ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ แห่ง มธ. ผู้ศึกษาหลักธรรมผ่านงานวิจัย และคว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี2564 สาขาปรัชญา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้ วช. ได้มีการเปิดตัว 1 นักวิจัย ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2564
ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มทำงานวิจัยตั้งแต่พ.ศ. 2546 ซึ่งงานวิจัยจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ทั้งในด้านแนวคิด คำสอน หรือหลักธรรม รวมทั้งการประยุกต์ใช้หลักธรรมในสังคมปัจจุบัน เช่น คำสอนเรื่องนิพพาน การใช้พุทธธรรมเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม และด้านกิจการรวมทั้งปัญหาด้านต่าง ๆ ของพระสงฆ์ หรือ คณะสงฆ์ เช่น ปัญหาเรื่องสมณศักดิ์ ปัญหาการทำผิดพระวินัย และกฎหมายพระสงฆ์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยสามารถสร้างความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาด้านคำสอน และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในสังคมไทย เช่น ปัญหาเรื่องนิพพานและอนัตตา ความเชื่อเรื่องชีวิตระหว่างภพ หรือหลังความตาย การแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ที่เกี่ยวกับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย สามารถช่วยอธิบายปัญหา และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษา ค้นคว้าวิจัยต่อยอด ของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ต่อไป
ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ มีจำนวน9เรื่อง โดยมีความโดดเด่นในแง่ของการเสาะแสวงหาความจริงใน 3 มิติ ได้แก่ 1. คำสอนหรือหลักธรรม 2. การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน และ3. การปฏิรูปพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ รวมถึงผลงานเขียนหนังสือ ตำราและบทความอีกหลายเรื่อง ทำให้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564
ศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ กล่าวว่า แนวทางในการนำงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนามาปรับใช้กับสังคม ควรขึ้นอยู่กับความเชื่อและการยอมรับของผู้นำไปใช้ด้วย โดยต้องถูกต้อง ตรงตามหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งต้องมีการนำมาอ้างอิงกับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ด้านการใช้ชีวิตประจำวัน
ด้านครอบครัว และการทำงาน โดยทางพระพุทธศาสนาให้ยึดถือหลักทางสายกลาง ซึ่งตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันหมายถึงความพอดี พอเพียง ในทุก ๆ ด้าน
“ผลงานที่เป็นไฮไลท์และประทับใจมากที่สุดได้แก่ แนวคิดการใช้หลักพุทธธรรมเพื่อดำเนินการทางเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยม ที่ต้องศึกษาด้านเศรษศาสตร์ รวมเศรษศาสตร์ตะวันตก ต้องลงภาคสนามสัมภาษณ์นักธุรกิจชั้นนำ ศึกษาแนวทางการใช้จริง ซึ่งเป็นงานทางด้านเศรษฐกิจและการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม
ทั้งนี้หลักพุทธธรรมที่สามารถนำมาใช้ในได้ทางเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ อาทิความสันโดษ ความรู้จักพอ รู้จักประมาณตนซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 นอกจากนี้ยังมี หลักอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะวิมังสา) และเรื่องความประหยัด สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ได้หมด และเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักธุกิจผู้บริหารระดับสูงที่เคยให้สัมภาษณ์ในการวิจัยได้ยึดถือปฏิบัติ โดย บางท่านยังนำกิจกรรมทางศาสนามาใช้ และการสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาด้วย ”
ศ.ดร.วัชระยังได้เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการค้นหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาในสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน คือ การใช้สติปัญญา และ ความเมตตากรุณา เพราะสังคมไทย ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างต้องเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้หากสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ได้ จะสามารถช่วยให้ประเทศของเรามีความสมดุลและมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
พร้อมทิ้งท้ายเสนอแนะนักวิจัยรุ่นใหม่ ถึงการทำงานด้านการวิจัยในมุมมองของอาจารย์ว่า งานวิจัยควรจะต้องปราศจากอคติ และค้นคว้าหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่สังคม เพื่อให้งานวิจัยถูกหยิบยกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม