สสส. ชวนขยับ คลายเครียด ผลวิจัยชี้กิจกรรมทางกาย 150 นาที/สัปดาห์ขึ้นไป สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงป่วยโควิด-19
สสส. ชวนขยับ คลายเครียด ผลวิจัยชี้มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ 150 นาที/สัปดาห์ขึ้นไป สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงป่วยโควิด-19 เตือนทำงานอยู่บ้าน เสี่ยงเนือยนิ่ง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทุกๆ 50 นาที ชี้คนไทยออกกำลังกายในบ้านมากขึ้น “โยคะ-บอดี้เวท-แอโรบิก” ยอดฮิต
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน หรือกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลาหลายวัน มีกิจกรรมทางกายนอกบ้านลดลง ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอช่วยพัฒนาทั้งระบบหัวใจไหลเวียนเลือด ระบบกล้ามเนื้อ และลดความเครียด ส่งผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและลดความรุนแรงของโรคต่าง ๆ
สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ทางวารสารวิชาการที่ชื่อ “British Journal of Sports Medicine” พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติของการกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะ มีอัตราความรุนแรงของอาการโรค สูงกว่าผู้ป่วยที่มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ 150 นาทีขึ้นไปต่อสัปดาห์
“องค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ในแต่ช่วงละวัย โดยแบ่งกิจกรรมทางกายเป็น 3 ระดับ คือ 1.ระดับเบา เป็นการขยับร่างกาย ยืน เดิน ปกติ 2.ระดับปานกลาง เป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้การหายใจเร็วขึ้นจากระดับปกติจน รู้สึกได้ถึงความเหนื่อย เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน รดน้ำต้นไม้ และ3.ระดับหนัก
เป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้มีการหายใจแรง อัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วขึ้นจากปกติอย่างมาก จนทำให้รู้สึกเหนื่อยหอบ เช่น เต้นแอโรบิก ซุมบ้า สำหรับเด็กและวัยรุ่น ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง-หนัก สะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง สะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และกิจกรรมทางกายระดับหนักสะสมให้ได้อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 15 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ ในช่วงของการทำงานจากที่บ้านมีแนวโน้มว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งที่มีผลเสียต่อสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย จึงควรมีการขยับร่างกาย เช่น เดินรอบ ๆ บ้าน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ทุก ๆ 50 นาที ร่วมกับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขอนามัย”ดร.สุปรีดา กล่าว
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลง โดย TPAK ได้สำรวจพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมสุขภาพของประชากรไทย ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 เดือนธันวาคม 2563 พบว่า ร้อยละของการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยในภาพรวมมีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบที่ 1 (ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563) คือจากร้อยละ 55.5 เป็นร้อยละ 65.3 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 โดยส่วนใหญ่ใช้สถานที่สำหรับการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายภายในบ้านหรือที่พักอาศัยกว่าร้อยละ 47.6 รองลงมา ใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้าน ร้อยละ 38.3 และใช้พื้นที่บริเวณในหมู่บ้านหรือชุมชน ร้อยละ 23.8 นอกจากนี้ข้อมูลการค้นหาวิดีโอเกี่ยวกับการออกกำลังกายจาก Google Trends ของ YouTube ในปี 2563 พบว่า โยคะและการเต้นตามคลิป ได้รับความนิยมมากสุด รองลงมาเป็นการออกกำลังทั่วไป รวมถึง บอดี้เวท (Body Weight) และเต้นแอโรบิก
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของประชากรไทยในการมีพฤติกรรมทางกายช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมออกกำลังกายที่สนามกีฬา ศูนย์กีฬา หรือฟิตเนส เปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายตามวิดีโอภายในบ้านหรือที่พักอาศัย รวมไปถึงบริเวณรอบบ้าน และภายในหมู่บ้านหรือชุมชนแทน แม้ว่าระดับการมีกิจกรรมทางกายจะยังไม่ฟื้นคืนระดับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าประชาชนคนไทยมีแนวโน้มของการออกกำลังกายของประชากรไทยในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ แบบ New normal ในลักษณะออกกำลังกายในพื้นที่จำกัด ใช้นวัตกรรมใหม่ที่ออกแบบและผลิตในรูปแบบแอปพลิเคชันต่างๆ จะได้รับความนิยมจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือกิจกรรมทางกายประจำบ้าน” ได้ที่ https://bit.ly/3gCsDiH หรือติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://tpak.or.th และwww.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด