พช.นครพนม ขับเคลื่อนกิจกรรมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นต้นแบบทอผ้าสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม มอบหมายให้นางสาวพันสี คุณธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน, นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และทีมนักวิชาการพัฒนาชุมชน ติดตามสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และติดตามความก้าวหน้าการนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ไปเป็นต้นแบบในการทอผ้า/ผลิตผ้า ณ ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองวัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า และกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า และกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพนจาน หมู่ที่ 10 ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
นายสุรพล แก้วอินธิ เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทย ด้วยพระทัยอันแน่วแน่ ทรงดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทย และกรมการพัฒนาชุมชนมีการผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบในมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น
และเป็นที่โชคดีอย่างยิ่ง ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทาน แบบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการสื่อความหมายถึงการมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และประทานอนุญาตให้เป็นลายต้นแบบในการรังสรรค์ถักทอเรื่องราวไปตามแต่ละภูมิปัญญาของทุกภูมิภาค ดึงอัตลักษณ์ศิลปะชุมชน ปลุกกระแสกลุ่มทอผ้าให้คึกคัก สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นมิให้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ราษฎร ให้มีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคง
ในการนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานฯ ของศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองวัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า ซึ่งมีสมาชิก 40 คน และกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า มีสมาชิก 70 คน ทั้ง 2 กลุ่มได้นำลายผ้าพระราชทานฯ ไปเป็นต้นแบบในการทอผ้าไหม โดยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติโดยใช้สมุนไพรและไม้มงคล มีการประยุกต์ลายพระราชทานร่วมกับลายโบราณดั้งเดิมของพื้นถิ่น และลายมุกซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ใช้เทคนิคการทอมัดหมี่ แบบ 2 ตะกอ และผ้าขิด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สวยและทันสมัย
เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าลายพระราชทาน จำนวน 290,000 บาท และมียอดสั่งซื้อ จำนวน 45,000 บาท และได้ติดตามกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพนจาน หมู่ที่ 10 ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ ซึ่งกลุ่มมีสมาชิก 10 คน ได้นำลายผ้าพระราชทานฯ ไปเป็นต้นแบบในการทอผ้า โดยการใช้เทคนิคการทอมัดหมี่ แบบ 2 ตะกอ ทำให้กลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าลายพระราชทาน จำนวน 11,500 บาท และมียอดสั่งซื้อ จำนวน 4,000 บาท ทำให้มีการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทย
ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองวัดธาตุประสิทธิ์ กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ และกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพนจาน พร้อมทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ในจังหวัดนครพนม รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงห่วงใยในพสกนิกร ทรงใส่พระทัยต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ในการนำลายของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พัฒนา ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น อันเป็นการสร้างสรรค์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ตามวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
คือความสุขที่ได้เลือกศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน เสมือนได้ต่อลมหายใจให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชน สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
นครพนม : เมืองแห่งความสุข
เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565
Change for Good