ครั้งแรก! สจล. ผนึก ม.เบอร์หนึ่งด้านการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ กรุงปักกิ่ง เปิดหลักสูตร “ภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม” ผลิต “บัณฑิตไทยตอบอุตฯ จีน”
คณะศิลปศาสตร์ สจล. เปิดรับสมัคร หลักสูตร “ภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม” รอบแรก 50 ที่นั่ง TCAS 3 รอบแอดมิชชันตั้งแต่วันนี้ -15 พ.ค. ผ่าน https://new.reg.kmitl.ac.th/admission
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะศิลปศาสตร์ จับมือมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (Beijing Language and Culture University) สถาบันสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เปิดหลักสูตร “ภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม” ครั้งแรก! เล็งปั้น “บัณฑิตไทยรู้ทันอุตสาหกรรมจีน” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจีน ทั้งเพื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม/องค์กรที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร รองรับการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน และยุทธศาสตร์บีอาร์ไอ ในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงกับนานาประเทศ ภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยหลักสูตรมีระยะเวลาเรียน 4 ปี เน้นเรียนรู้ภาษาจีนแบบเข้มข้น และเท่าทันความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม-โลจิสติกส์จีนยุคใหม่ พร้อมเปิดประสบการณ์เรียนรู้ภาษา-วัฒนธรรมจีน ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ TCAS รอบ 3 แอดมิชชัน ได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 พฤษภาคม 2564 ผ่าน https://new.reg.kmitl.ac.th/admission
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะศิลปศาสตร์ สจล. โทร. 085-135-8540 (ผศ. ดร.อารีย์ รุ่นพระแสง) หรือดูรายละเอียดหลักสูตรที่ http://fla.kmitl.ac.th/th เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/cikmitl หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. โดยคณะศิลปศาสตร์ จับมือ “มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง” (Beijing Language and Culture University) มือเบอร์หนึ่งสถาบันสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เปิดหลักสูตร “ภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม” (Bachelor of Chinese for Industry) ครั้งแรกในไทย เล็งปั้น “บัณฑิตไทยรู้ทันอุตสาหกรรมจีน” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาจีน ทั้งเพื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม องค์กรที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตอบสนองสังคมจีนยุคใหม่หรือยุทธศาสตร์ของจีนในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านการเชื่อมโยงกับนานาประเทศ (Belt and Road Initiative: BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) คลี่คลาย
อย่างไรก็ดี จีน ถือเป็นคู่ค้าเบอร์หนึ่งของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 8.4 แสนล้านบาท อีกทั้งยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท (ข้อมูล: ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์, 2564) โดย สจล. คาดหวังว่า บัณฑิตในหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถสร้างโอกาสทางอาชีพ หรือกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมไทย-จีน ผ่านการต่อยอดภาษาเพื่อธุรกิจในการต้อนรับนักลงทุน-นักท่องเที่ยวชาวจีน อันจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ และระหว่างประเทศได้ในอนาคต
รศ. ดร.ไพฑูรย์ พิมดี รักษาการคณบดี คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม มีระยะเวลาเรียน 4 ปีที่ สจล. เน้นการเรียนรู้ภาษาจีนแบบเข้มข้น ครอบคลุมภาษาจีนเพื่อสื่อสารเชิงวิชาชีพ ภาษาจีนเพื่อการนำเสนอผลงาน กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เท่าทันความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์จีนยุคใหม่ เพื่อให้บัณฑิตสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน เสมือนเจ้าของภาษา (Native Speaker) โดยแท้จริง และพร้อมก้าวสู่โลกการทำงานร่วมกับนักลงทุน/นักธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องใช้ภาษาจีนสื่อสารได้อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ผ่าน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่
· โครงการประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรม สำหรับนักศึกษาที่จบปีการศึกษาที่ 1 สามารถเดินทางไปเรียนในช่วงปิดภาคเรียน ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ 40 ชั่วโมง เมื่อผ่านการทดสอบ ก็จะสามารถโอนวิชาเรียนได้ 1 หน่วยกิจ และกลับมาศึกษาต่อที่ สจล.
· โครงการสอนร่วมระดับปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาที่จบปีการศึกษาที่ 2 สามารถเดินทางไปเรียนในปีการศึกษาที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา (นักศึกษาสามารถศึกษาต่อนอกเหนือจากระยะเวลาดังกล่าวได้)
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว เปิดรับสมัครผู้เข้าศึกษาต่อใน 3 คุณสมบัติดังนี้ 1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าหรือเทียบโอนมาจากสถาบันการศึกษาแห่งอื่น 2. ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาตามเกณฑ์ของ สกอ. และ 3. ผ่านการคัดเลือก (รับตรง) ตามข้อบังคับของสถาบันฯ หรือมีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศสถาบันฯ กำหนด โดยเปิดรับรอบแรก จำนวน 50 ที่นั่ง ในระบบ TCAS รอบ 3 แอดมิชชัน (Admission) ผ่าน https://new.reg.kmitl.ac.th/admission ตั้งแต่วันนี้ – 15 พฤษภาคม 2564
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะศิลปศาสตร์ สจล. โทร. 085-135-8540 (ผศ. ดร.อารีย์ รุ่นพระแสง) เว็บไซต์ http://fla.kmitl.ac.th/th เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/cikmitl หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม สจล. ได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial