ไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้วเฉลี่ย 2.06% ของประชากร
อว. เผยคนไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดแล้วเฉลี่ย 2.06% ของประชากร โดยมี 532,462 คนที่ฉีดครบสองเข็ม ส่วนในแง่ความปลอดภัย 89.19% ไม่พบผลข้างเคียงจากวัคซีน (syringe)
สมุทรสาครและภูเก็ต ฉีดแล้วเกิน 20% ของประชากร
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานว่า กระทรวง อว. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามและประมวลผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ว่า “ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 1,898,454 โดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 1,365,992 คน หรือเท่ากับ 2.06% ของประชากร และฉีดครบสองเข็มแล้วถึง 532,462 คน หรือเท่ากับ 0.80% ของประชากร”
เมื่อวิเคราะห์เป็นรายจังหวัด พบว่ามี 15 จังหวัด ที่จะได้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2% ของประชากร ได้แก่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระนอง ตาก กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชลบุรี พังงา สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครนายก ปทุมธานี และระยอง
โดยจังหวัดสมุทรสาคร มี 173,319 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 29.57% ของประชากร ส่วนจังหวัดภูเก็ต มี 101,001 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 24.37% ของประชากร
สำหรับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จังหวัดภูเก็ตมี 94,231 คน ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว คิดเป็น 22.74% ของประชากร ส่วนจังหวัดสมุทรสาคร มี 105,418 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 17.98% ของประชากร
ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัยสูง โดยไม่มีรายงานผลข้างเคียงในผู้ที่ฉีดวัคซีน 1,693,234 ราย (89.19% ของผู้ฉีด)
โดยมีการรายงานผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน 205,220 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ (6.65% ของผู้ที่ฉีด), ปวดศีรษะ (4.37%), เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (3.23%), ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด (3.18%), ไข้ (2.08%), คลื่นไส้ (1.56%), ท้องเสีย (1.23%), ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง (0.91%), ผื่น (0.7%), อาเจียน (0.4%) และอาการอื่นๆ (1.34%)
ในส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิดนั้น ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ของกรมควบคุมโรค กระทรวง0สาธารณสุข เผยว่าได้ติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างละเอียด โดยการประมวลผลล่าสุดซึ่งได้ฉีดวัคซีนในคนไทยแล้วจำนวน 1,935,565 โดสแล้วนั้น มีผู้ที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค
โดยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 428 ราย แบ่งเป็น 404 รายจากวัคซีนซิโนแวก (เท่ากับ 22.24 ต่อหนึ่งแสนโดส) และ 24 รายจากวัคซีนแอสตราซิเนกา (เท่ากับ 20.19 ต่อหนึ่งแสนโดส) โดยรวมแล้วมีอาการแพ้รุนแรง 13 ราย (เท่ากับ 0.67 คนต่อหนึ่งแสนโดส) และการชาชนิด Polyneuropathy 1 ราย (เท่ากับ 0.06 คนต่อหนึ่งแสนโดส) และไม่มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากวัคซีน
ศ.พญ.กุลกัญญา รายงานเพิ่มเติมว่า ใน 13 รายที่มีอาการแพ้รุนแรง มี 12 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก (0.66 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย) และเป็นผู้ได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกา 1 ราย (0.84 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย) สำหรับอาการชาชนิด Polyneuropathy 1 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก (0.06 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย)
🌏 สถิติที่สำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
- จำนวนการฉีดวัคซีน
-ยอดรวม ฉีดแล้ว 1,898,454 โดส
-ฉีดเข็มแรก 1,365,992 โดส (2.06% ของประชากร)
-ฉีดเข็มที่สอง 532,462 โดส (0.80% ของประชากร) - กลุ่มผู้ได้รับวัคซีน เรียงตามลำดับ
-บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. 852,383 โดส (46.9%)
-ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 658,294 คน (30.8%)
-เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 235,140 คน (13.3%)
-บุคคลที่มีโรคประจำตัว 107,298 คน (5.7%)
-ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 45,339 คน (3.3%) - จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีน จำนวนมากที่สุด 10 จังหวัดแรก
- กรุงเทพมหานคร
- สมุทรสาคร
- ภูเก็ต
- ตาก
- ชลบุรี
- นนทบุรี
- สุราษฎร์ธานี
- สมุทรปราการ
- ปทุมธานี
- นครราชสีมา
- จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนต่อประชากร สัดส่วนสูงที่สุด 10 จังหวัดแรก
- สมุทรสาคร
- ภูเก็ต
- ระนอง
- ตาก
- กรุงเทพมหานคร
- นนทบุรี
- สุราษฎร์ธานี
- กระบี่
- ชลบุรี
- พังงา
- มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 428 ราย
โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวก เท่ากับ 22.24 รายจากผู้ฉีดหนึ่งแสนรายซึ่งมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียงตามลำดับ คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น อ่อนเพลีย คัน ผื่นแพ้ ปวดกล้ามเนื้อ ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว ไข้ และปวดท้อง
และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกา เท่ากับ 20.19 รายจากผู้ฉีดหนึ่งแสนรายซึ่งมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียงตามลำดับ คือ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว ปวดท้อง คัน และผื่น
แหล่งข้อมูล กรมควบคุมโรค
ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)