ต่อยอดงานวิจัยวช. กฟผ.สนสร้างโรงงานต้นแบบ ผลิตหน้ากากนาโนป้องกันโควิด-19 -ฝุ่น PM 2.5
ผลสำเร็จของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการพัฒนาหน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป ที่สำนักงานการวิจััยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนการวิจัย ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสนใจสนับสนุนสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตหน้ากากสำหรับเจ้าหน้าที่เหมืองแม่เมาะ และแจกจ่ายให้ประชาชน
ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ในการผลิตหน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM 2.5 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างโรงงานต้้นแบบเพื่อผลิตหน้ากากในเชิงอุตสาหกรรม มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน และนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิตมาจากต่างประเทศ เพราะในแต่ละปี กฟผ. ใช้หน้ากากประเภทนี้เป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากการทำงาน เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมการทำเหมืองอยู่แล้ว (เหมืองถ่านหินแม่เมาะ) โดยหน้ากากที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปให้พนักงานของ กฟผ. ใช้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ อีกส่วนหนึ่งจะแจกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด- 19 ในรอบที่ 2 จึงทำให้โครงการชะลอไป คาดว่าหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายจะเริ่มกลับมาดำเนินการต่อ
สำหรับคุณสมบัติของหน้ากากนาโนที่โครงการฯ ผลิต เป็นการนำแผ่นกรองนาโนจากประเทศไต้หวันมาทำเป็นไส้กรองในหน้ากากอนามัยที่สนับสนุนให้ชุมชนเย็บ แล้วนำมาฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีเพื่อนำไปให้ประชาชนและแพทย์ใช้งาน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่สอง ไม่สามารถนำเข้าแผ่นกรองนาโนได้ โครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.นพวรรณ ชนัญพานิช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาแผ่นกรองนาโนขึ้นใช้เอง ซึ่งมีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นระดับเดียวกับหน้ากาก N95 โดยแผ่นกรองนาโนจากไต้หวันสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.075 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 99% ส่วนแผ่นกรองที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนาขึ้นสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน มีประสิทธิภาพในการกรองได้ 80 % ถ้าเป็นละอองฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 96.5% ในขณะที่เชื้อโควิดที่แพร่กระจายในอากาศผ่านสารคัดหลั่ง เช่น การไอ การจาม การพูดคุย ซึ่งจะมีขนาดประมาณ 3-5 ไมครอน ดังนั้น หน้ากากนาโนจึงสามารถป้องกันได้ทั้ง PM 2.5 และป้องกันเชื้อโควิด-19
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญของการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาหน้ากากรูปแบบต่่างๆ เพื่อป้องกันฝุ่นและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายด้วยฝีมือของคนไทย เทคโนโลยีใดที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการใช้งาน มีต้นทุนที่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะถูกยกระดับขึ้นสู่การผลิตเพื่อการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ต่อประเทศชาติ เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าให้กับงานวิจัยของประเทศไทย