วช. ร่วมสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สพภ. มก. – moreloop รวมพลังขับเคลื่อนไทยด้วย BCG Model
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการเสวนา “รวมพลังประชาคมวิจัยขับเคลื่อนไทยด้วย BCG Model” ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live และระบบ ZOOM โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นนักวิชาการและผู้ประกอบการมีชื่อ ประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model, ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ,รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง moorloop สตาร์ทอัพประเทศไทย เพื่อส่งเสริมงานวิจัยช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอว.ที่มุ่งพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG Model ตลอดจนรับฟังความเห็นเพื่อนำไปพัฒนากระบวนการและสนับสนุนเป้าหมายของยุทธศาสตร์และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.ในบทบาทการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โดยในประเด็นท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ได้รับงบประมาณจากกองทุน ววน. เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
งานทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวิตภาพ(B- Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน(C-Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (G-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลสำคัญสำหรับใช้ขับเคลื่อนประเทศที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม งานด้านทรัพยากรธรรมชาติและงานทางด้านการเกษตร
ทั้งนี้ BCG Model มีความสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องของ SDGs (Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ(UN))และสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง( พ.ศ.2564-2569)ด้วย ซึ่งเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นในส่วนยุทธศาสตร์ของกระทรวงอว.ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างมีคุณภาพที่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ มองในกรอบของประชาชนที่มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงรักษาฟื้นฟูทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันให้มีคุณภาพที่ดีโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานที่ผ่านมาถึงปัจจุบันวช.ได้สนับสนุนการบริหารทุนนวัตกรรมให้กับเครือข่ายวิจัยสถาบันการศึกษา หน่วยวิจัย และอีกหลายหน่วยในอันที่จะนำความรู้ในการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการเชื่อมโยงกับเรื่อง BCG Model ซึ่งมีความครอบคลุมในหลายส่วน อาทิ เรื่องของทะเลไทยไร้ขยะ, PM 2.5, ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในประเด็นที่จะขับเคลื่อนและการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ
วช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดล BCG Model ในการเสริมจุดแข็งจากการมีฐานทรัพยากรกับความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะได้กระบวนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มคุณภาพการผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง รวมถึงการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน การใช้ทรัพยากรที่มุ่งสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเติบโตก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้มีความทั่วถึง
วช.ยินดีที่จะรับฟังความเห็นจากทุกท่านเพื่อนำไปพัฒนากระบวนการและสนับสนุนเป้าหมายของยุทธศาสตร์และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว(BCG Model) กล่าวว่า BCG มาอยู่กระทรวงอว.เพราะเราจะขับเคลื่อนBCG ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงอว.จะมีบทบาทในจุดนี้ เราให้ความสำคัญกับ BCG Model เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 5 ที่ว่า ประเทศไทยจะต้องมีการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มองเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร
“BCG คือ จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะสร้างการเติบโตจากความเข้มแข็งภายในที่เรามีอยู่ เช่น ความมั่นคงด้านทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยอยู่ในอันดับที่16ของโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งได้อย่างไร ซึ่งนโยบายจะต้องชัดเจน โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำร่วมกัน
โดยเซคเตอร์ที่ให้ความสำคัญได้แก่ อาหารและเกษตร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน และการท่องเที่ยว BCG จะเชื่อมสิ่งที่ไทยมีความเข้มแข็งจาก 4 เซคเตอร์นี้และขณะนี้ขยายไปอีกหลายเซคเตอร์ มองเชิงพื้นที่ เชื่อมโยงกับระดับประเทศ เชื่อมโยงกับระดับโลก
BCG จะช่วยตอบประเด็นปัญหาได้ทุกระดับ โมเดลเศรษฐกิจนี้ วิสัยทัศน์คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพที่ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฟื้นฟูฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าสูง”
ทั้งนี้ในการเสวนาดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นการพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่งในระดับอาเซียนไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับ 3
ตัวอย่างงานวิจัยจากความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาแบบจำลองธรรมชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ของชนิดเห็ดป่าไมคอร์ไรซาและชนิดพืชอาศัย เพราะเห็ดจะอยู่ร่วมกับรากของพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยเห็ดชนิดหนึ่ง อาจเหมาะสมกับพืชชนิดที่แตกต่างกัน
ขณะที่รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีการออกแบบสวยงาม เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
ส่วนนายอมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop สตาร์ทอัพประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย BCG model ในภาคของธุรกิจ ซึ่งเวบไซต์ Moreloop ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สร้างคุณค่าจากเศษผ้าเหลือใช้ โดยเป็นตลาดกลางให้ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการที่มีเศษผ้าเหลือทิ้งมากมายได้พบกับผู้ต้องการเศษผ้าไปพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสูงสุด
จากนั้นได้ร่วมกันสรุปมุมมองการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่แนวคิดการร่วมมือแบบบูรณาการและการปฏิบัติจริง ซึ่งการวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยการเสริมจุดแข็งของการมีฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพที่สูง เร่งกระบวนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลดการใช้ทรัพยากร และหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”