สกสว. เปิดเวที STO Forum เสริมพลังภาคีความร่วมมืออวกาศไทย พร้อมมุ่งเป้าแผน ววน. 65-70 ผลิกโฉมประเทศสู่อนาคต


สกสว. จัดการประชุม STO Forum ครั้งที่ 2/2564 ระดมหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย หารือเป้าหมายเชิงนโยบาย ประเด็นยุทธศาสตร์ และจุดมุ่งเน้นด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบรรจุในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไทยสู่การแข่งขันในเวทีโลก
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม “Science and Technology Organization Forum (STO Forum)” ครั้งที่ 2/2564 โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมประชุมหารือถึงเป้าหมายเชิงนโยบาย ประเด็นยุทธศาสตร์ และจุดมุ่งเน้นด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบรรจุในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 เป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานเครือข่ายยังได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของ Thai Space Consortium (TSC) Roadmap: ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย อีกด้วย

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนงานในส่วนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน สกสว. อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ฉบับปี พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมในวันนี้ เป็นการหารือกับเครือข่ายหน่วยงานที่มีภารกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ มาร่วมกันระดมความเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ที่กำหนดทิศทางให้เกิดการบูรณาการหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบภายในปี พ.ศ.2566 โดยแผนด้าน ววน. ฉบับนี้จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติผ่านข้อเสนอแผนงานโครงการต่าง ๆ สอดคล้องไปกับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศด้วยฐานความรู้จากระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม

ทางด้าน ดร.วิภู รุโจปการ รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) เป็นการบูรณาการความร่วมมือ 12 หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันการระดมความร่วมมือนั้น เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย เพื่อขยายผลสู่การยกระดับขีดความสามารถการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต


โดยปัจจุบันโครงการ TSC อยู่ระหว่างการพัฒนาดาวเทียมที่สำคัญ 2 ดวงก็คือ TSC-Pathfinder ซึ่งจะเป็นดาวเทียม Technology Demonstration และดาวเทียม TSC-1 ที่พัฒนาร่วมกันกับหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศจากประเทศจีน โดยก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งมีเป้าหมายคือการสร้างความสามารถในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตดาวเทียมได้ในประเทศ
รวมถึงพัฒนาความสามารถของกำลังคนในประเทศ โดยมีแผนจะส่งดาวเทียม TSC-2 ไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ.2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันเริ่มมีภาคเอกชนให้ความสนใจในการร่วมลงทุนกับโครงการ เนื่องจากเห็นถึงโอกาสในการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ไปต่อยอดการดำเนินงานทางธุรกิจ
นอกจากนี้โครงการยังคาดว่าจะเกิดการทำธุรกิจในรูปแบบ Startup ที่จะมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอวกาศของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยผ่านการขับเคลื่อนฐานนวัตกรรมในอนาคต


