สธ.ยืนยันมีวัคซีนโควิดรองรับฉีดทั่วประเทศ 7 มิ.ย.
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ฉีดวัคซีนโควิดพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่มีเลื่อนนัด เผยมีวัคซีน 3.54 ล้านโดสจัดส่งทั่วประเทศ และมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบส่งให้ทุกจังหวัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จากจุดฉีดวัคซีนทั้งต่างจังหวัด และกทม. กว่า 1,000 จุด คาดสัปดาห์หน้าทำสัญญาจองวัคซีนไฟเซอร์อีก 20 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ทุกคนในแผ่นดินไทย ทั้งคนไทยและต่างชาติที่สมัครใจโดยไม่คิดมูลค่า ต้องฉีดอย่างน้อย 50 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้ โดยมีเป้าหมายจัดหาวัคซีนในปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส, ปี 2565 เพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส ขณะนี้ได้จัดหาวัคซีนซิโนแวคแล้ว 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส รวมเป็น 67 ล้านโดส การจัดหาเพิ่มเติมอยู่ในขั้นตอนลงนามสัญญาคำสั่งจองวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามในสัญญาจองวัคซีน และวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญาจองวัคซีนโดยวัคซีน 2 ตัวนี้คาดว่าจะได้รวม 25 ล้านโดส และจะมีแผนจัดหาซื้อซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส ก็จะได้ครบ 100 ล้านโดส
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า แผนการฉีดหลักของประเทศไทยเริ่มที่เดือนมิถุนายน เมื่อมีการระบาดก่อนหน้านี้ จึงนำวัคซีนซิโนแวคมาฉีดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบันประมาณ 4 ล้านโดส โดยพื้นที่ กทม.ฉีดแล้ว 1 ล้านโดส ทำให้ชะลอการระบาดได้ส่วนหนึ่ง สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายนนี้ เป็นการเริ่มฉีดพร้อมกันจำนวนมากทั่วประเทศ มีวัคซีนแล้ว 3.54 ล้านโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 2.04 ล้านโดส และซิโนแวค 1.5 ล้านโดส) และจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ทยอยส่งมอบ กระจายไปทุกจังหวัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนมี 8.4 แสนโดส และสัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส ภาพรวมเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีน 6 ล้านโดสเป็นตามแผนที่ ศบค.กำหนด รวมตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนจนถึงเดือนมิถุนายนจะฉีดวัคซีนได้ประมาณ 10 ล้านโดส ช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง
สำหรับพื้นที่ กทม.จะได้รับการจัดสรรวัคซีน 2.5 ล้านโดส โดยจัดสรรตรงให้ กทม. 1 ล้านโดส และจัดสรรผ่านกลุ่มต่างๆ คือ สำนักงานประกันสังคมในการฉีดผู้ประกันตนพื้นที่ กทม. 1 ล้านโดส และกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 5 แสนโดส เพื่อให้กทม.ที่มีการระบาดมากได้รับการจัดสรรวัคซีนที่เพียงพอในการควบคุมการระบาด เบื้องต้นกระจายวัคซีนไปตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนแล้ว
“หลักการกระจายวัคซีนคือ 1.ทุกจังหวัดจะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เฉลี่ยตามจำนวนประชากรและประชากรแฝงในพื้นที่ 2.จังหวัดที่มีการระบาดมากจะจัดวัคซีนเสริมเพื่อควบคุมโรค อาจมีการปรับแผนตามสถานการณ์โรคที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว เช่น มีการระบาดในบางพื้นที่หรือบางกลุ่มเพิ่มขึ้น 3.จังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หรือชายแดนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตน รวมถึงคนที่นัดฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมแล้วจะได้ฉีดแน่นอน ไม่มีการเลื่อน ขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ จุดฉีดวัคซีนในจังหวัดต่างๆ มี 993 จุด กทม.อย่างน้อย 25 จุด สำนักงานประกันสังคม 25 จุด มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 11 จุด และจุดฉีดกลาง 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูล โรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์การแพทย์บางรัก เป็นต้น แต่ละจุดฉีดสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มหรือลดลงได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของประชาชน โดยทุกจุดฉีดวัคซีนทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล อยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์และสถานพยาบาล รวมถึงมาตรการของกรมควบคุมโรคที่กำหนด คือ การคัดกรองประวัติ การลงนามยินยอมการฉีดวัคซีน การสังเกตอาการ 30 นาที และติดตามภายหลังฉีด 30 วัน ภาพรวมทุกจุดมีศักยภาพสูง บางจุดฉีดได้เกิน 1 หมื่นรายต่อวัน สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ฉีดในคนอายุ 18 ปีขึ้นไปไม่จำกัดอายุสูงสุดเหมือนกัน ดังนั้น การฉีดจะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์โดยยึดหลักวิชาการทางการแพทย์