สกสว. จับมือ มูลนิธิ สวค. ถกใช้เครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดการประชุมเครือข่ายผู้ประเมิน ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมินการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของชาติ โดยการประชุมในครั้งนี้มีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) และการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำ SIA และ SROI มาใช้ในการประเมินโครงการที่ได้รับทุนในระบบ ววน.
ผศ.ดร. ประพัฒชนม์ จริยะพันธุ์ ผู้อำนวยการภารกิจการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสนับสนุนการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม โดย สกสว. ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้เกิดการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณได้อยางมีประสิทธิภาพ สกสว. จึงร่วมกับ มูลนิธิ สวค. ได้ดำเนินโครงการ “จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมินการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของชาติ” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทำเนียบนักประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทย ศึกษาองค์ความรู้ว่าด้วยศาสตร์ การติดตามและประเมินผลจากการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ รวมทั้งศึกษารูปแบบการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประเมินของต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ด้าน คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการประเมินผลการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการประเมินแบบการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) เนื่องจากส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างโครงการ ทำให้เกิดแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินมาใช้แบบที่เป็นลักษณะตัวชี้วัดและมาตรฐานโครงการมากกว่ามูลค่าทางการเงิน อย่างไรก็ตามการประเมินแบบ SROI นั้นยังคงมีข้อดีในแง่ของความครอบคลุมตลอดการดำเนินงานของโครงการ ตลอดจนมองไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น (Impact)
แต่ยังคงพบข้อติดขัดบางประการ ทำให้แนวโน้มการดำเนินงานด้านการประเมินในประเทศต่างๆ มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือตามบริบทที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในประเทศไทยหากย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วจะพบปัญหาที่ท้าทายถึงความจำเป็นของการประเมินผลโครงการ แต่ในปัจจุบันความท้าทายในประเด็นนี้ลดลงเนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขการให้ทุนตั้งแต่ต้นในความจำเป็นต้องมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ในขณะที่ภาคเอกชน ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินผลโครงการเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินโครงการเพื่อสังคม ซึ่งทำให้สามารถรายงานการดำเนินงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การประเมินแบบ SROI ยังคงมีความท้าทายในแง่ของทรัพยากรที่นำมาใช้ในการประเมินประกอบกับความซับซ้อนในการประเมินที่ต้องหามูลค่าตัวแทนทางการเงิน (Financial Proxy) ทำให้ในประเทศไทยยังคงต้องพัฒนามาตรฐานการประเมินนี้ รวมถึงใช้เครื่องมือการประเมินในรูปแบบอื่น ๆ ควบคู่กันไปตามบริบทของแต่ละโจทย์