วิจัยเพื่อคนไทย…งานวิจัยโรคกระดูก-ข้อในผู้สูงอายุต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

ในปี2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นและประชากรเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงที่จะมีโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในจำนวนที่สูงขึ้นกว่าปกติ อาทิ โรคความดัน เบาหวาน ไขมันในกระแสเลือดและโรคมะเร็ง รวมทั้งภาวะการเกิดโรคกระดูกผุบาง กระดูกหัก ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาคุณภาพชีวิตที่ลดลงและส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น

จากปัจจัยสำคัญเพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของโครงการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในเดือนตุลาคมปี 2563 ในการศึกษาและหาข้อมูลประชากรของประเทศจากอาสาสมัครจำนวน 3,000 คนที่ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค 12 จังหวัด


โครงการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการผ่านบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ร่วมศึกษาและรวบรวมข้อมูล ซึ่งหากโครงการดำเนินงานได้อย่างสมบูรณ์ จะเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอด คิดค้นเครื่องมือคัดกรองคนไข้ หรือประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกบางและชุดเครื่องมือเพื่อป้องกันการหกล้ม สาเหตุสำคัญของปัญหากระดูกหัก รวมทั้งนำไปสู่การวางแผนและปรับเปลี่ยนนโยบายทางสาธารณสุขและจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริม ป้องกันอย่างเหมาะสมและสอดคล้องเข้ากับสถานการณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
