สกสว.ประชุมความก้าวหน้า “การวิจัยเชิงระบบ เพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย”
สกสว.เปิดการประชุมออนไลน์นำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการ “การวิจัยเชิงระบบ เพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาควิจัย และภาคการเกษตรของไทย รับทราบข้อมูลจากผลการวิจัยระยะที่ 1 พร้อมข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบาย
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการ “การวิจัยเชิงระบบ เพื่อการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาคการเกษตรไทย” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ที่จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาควิจัย และภาคการเกษตรของไทย ทั้ง สกสว. ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับทราบข้อมูลจากผลการวิจัยระยะที่ 1 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ศ.ดร.อรรถชัย จินตะเวช รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนักวิจัยโครงการดังกล่าว นำเสนอรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัยนี้
ในการประชุมครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบายที่น่าสนใจว่า รัฐบาลและรัฐสภาภายใต้การปฏิรูปประเทศและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ควรจัดทำยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อ สนับสนุนนโยบายระบบการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งในส่วนของการ ปฏิรูปองค์กร ระบบการบริหารราชการและข้าราชการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมนำนโยบายเกษตรสมัยใหม่ไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบปฏิรูปโครงสร้างการผลิตทางเกษตรโดยการวางแผนการทำเกษตรที่เหมาะสม ตามศักยภาพของปัจจัยการผลิตที่คำนึงถึงกลไกตลาด โดยปราศจากการแทรกแซงนโยบายโดยการเมือง
ทั้งนี้ประเด็นนโยบายระบบการเกษตรสมัยใหม่ ควรมุ่งเน้นกรอบแนวคิดเป็นระบบ “ตลาด” นำ “การผลิต” ทางการเกษตรเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออก ควรมุ่งเน้นเป้าหมายทั้งในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อย โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและสนับสนุนความรู้และทักษะการจัดการเชิงธุรกิจ การส่งเสริมระบบการผลิตโดยการใช้นวัตกรรมและการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล การส่งเสริมระบบการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต การแปรรูป และระบบตลาด การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร และ การพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตามหลังจากการประชุม คณะนักวิจัยจะนำข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ไปพัฒนาข้อมูลและดำเนินการวิจัยในระยะต่อไป ให้สมบูรณ์และสอดคล้องตามโจทย์และเป้าประสงค์สำคัญของโครงการวิจัยต่อไป