วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบสาขาฟิสิกส์
วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบสาขาฟิสิกส์: รายการ Dimensions (Thickness, Width and Length), Force at break, Tensile strength at break, Elongation at break and Watertightness of Medical glove
กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ (ชน.สผ.) ดำเนินกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) ประจำปี 2564 สาขาฟิสิกส์: รายการ Dimensions (Thickness, Width and Length), Force at break, Tensile strength at break, Elongation at break and Watertightness of Medical glove ร่วมกับกลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง กองวัสดุวิศวกรรม เพื่อทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการและประกันคุณภาพการผลการทดสอบคุณสมบัติของถุงมือยางทางการแพทย์ของห้องปฏิบัติการทดสอบด้านยางของประเทศทั้งในภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัยต่างๆ โดยในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 วศ.ได้จัดส่งตัวอย่างถุงมือยางทางการแพทย์สำหรับทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ โดยมีห้องปฏิบัติการที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 14 ห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการทดสอบ และส่งผลกลับมายังศูนย์บริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ
ถุงมือที่ดีมีคุณภาพ ควรมีความยืดหยุ่นสูง เหนียว ไม่ฉีกขาดง่ายและไม่รั่วซึม ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์(Medical glove) มี 2 ประเภทคือถุงมือผ่าตัด (Surgical glove) และ ถุงมือตรวจโรค (Examination glove) ถุงมือผ่าตัดเป็นถุงมือปลอดเชื้อ มีลักษณะบางแข็งแรง ยาวถึงข้อศอกและผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกรมม่า ส่วนถุงมือตรวจโรค ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ มีลักษณะบาง สั่นแค่ข้อมือ ไม่มีซ้ายขวา สวมใส่ง่าย ราคาถูกกว่าถุงมือผ่าตัด
กิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ สุ่มตัวอย่างเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ชนิดผ่าตัด (Surgical glove) ที่มีการขายทั่วไปในท้องตลาด ที่มีวันผลิตเดียวกัน ล็อตการผลิตเดียวกัน เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพและการเปรียบเทียบผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของถุงมือยางทางการแพทย์ กำหนดให้ทดสอบคุณสมบัติ 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
1) ทดสอบขนาดของถุงมือยางทางการแพทย์ (Dimensions) โดยจะวัดความหนา ความกว้าง และความยาวของถุงมือทางการแพทย์ตาม ISO10282 : 2014
2) ทดสอบคุณสมบัติด้านแรงดึง (Tensile properties) โดยตัดถุงมือยางทางการแพทย์เป็นรูปทรง dumb-bell (type 2) ตามเอกสารมาตรฐานอ้างอิง ISO 37 และทำการทดสอบ ดังนี้
– ค่าความต้านแรงดึง ณ จุดขาด (force at break)
– ค่าความทนต่อแรงดึง ณ จุดขาด (tensile strength at break) เป็นการวัดแรงดึงสูงสุดที่ใช้ดึงยืดวัสดุจนขาดหารด้วยพื้นที่หน้าตัดของวัสดุนั้น
– ค่าการยืดตัว ณ จุดขาด (elongation at break) เป็นการวัดระยะสูงสุดที่วัสดุสามารถยืดยาวได้จนถึงจุดที่ชิ้นทดสอบขาดจากกันเทียบกับระยะเริ่มต้น (gauge length)
3) ทดสอบรอยรั่วของถุงมือยางทางแพทย์ เพื่อหารอยรั่วของถุงมือที่เกิดกำหนดโดยผู้จัดกิจกรรมฯ ให้เป็นไปตามกำหนดมาตรฐาน มอก. ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายประการที่ทำให้คุณภาพของถุงมือไม่ได้มาตรฐาน อันเนื่องมาจาก อายุของถุงมือที่เก็บไว้นาน การเก็บรักษาไม่เหมาะสม หรือจากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ
– เพื่อยืนยันสมรรถนะและความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของห้องปฏิบัติการและยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
– ชี้บ่งปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาความสามารถของห้องปฏิบัติการ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ การใช้เครื่องมือ หรือความสามารถของบุคลากร เป็นต้น
– ทำให้มั่นใจในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง
– เป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยง และเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ
– ใช้ประกอบการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025