WHO เผย น้ำเมาตัวการก่อโรค NCDs คร่าชีวิตทั่วโลก 40 ล้านคน/ปี
WHO เผย น้ำเมาตัวการก่อโรค NCDs คร่าชีวิตทั่วโลก 40 ล้านคน/ปี สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย – เครือข่ายงดเหล้า – สสส. ห่วงนักดื่มหน้าใหม่พุ่ง หลังพบเยาวชนไทยเริ่มดื่มอายุไม่ถึง 15 ปี แนะ ผู้ปกครอง ไม่ดื่มให้เห็น ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ ตัดวงจรนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย จัดเสวนาออนไลน์ประเด็น“NCDs และนักดื่มหน้าใหม่ ปัญหาท้าทายในสื่อสังคมออนไลน์” เพื่อสะท้อนปัญหาว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเยาวชนและประชาชน เพราะกลุ่มโรค NCDs ทำให้คนเสียชีวิตติดอันดับ 1 ของโลก โดยมี รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย เป็นประธานเปิดวงเสวนา
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก พบผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) ติดอันดับ 1 ของโลก เพราะแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 40 ล้านคน/ปี คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยพบสถิติการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs ประมาณ 3.9 แสนคน/ปี คิดเป็นร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเรื่องการใช้ชีวิตและการบริโภคอาหาร ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 เรื่องนักดื่มหน้าใหม่ พบอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้ชายจะดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 19.3 ปี และผู้หญิง 23.7 ปี ที่น่ากังวลคือ พบเยาวชนไทยเริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ สูงถึงร้อยละ 12.2
เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายและผู้หญิงเริ่มดื่มสุรามากที่สุด คือเลียนแบบเพื่อนหรือเพื่อนชวน ร้อยละ 38.9 รองลงมาคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 29.1 และต้องการเข้าสังคมในงานรื่นเริง/งานประเพณี ร้อยละ 17.7 ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเยาวชนที่เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสติดสุราจนทำให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศ จนนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตที่มากขึ้น
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกลุ่มโรค NCDs จะนึกถึงโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด ที่มักจะเกิดในวัยผู้สูงอายุ แต่ความจริงมันเป็นระเบิดเวลาที่เริ่มจุดตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย แค่การดื่มวันละ 1 แก้ว ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดและโรคทางสมองหรือพัฒนาการทางสมองได้ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เยาวชนมีพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทแย่ลง ส่งผลกระทบต่อประเทศที่จะต้องสูญเสียประสิทธิภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ
“ การป้องการและควบคุมปัญหากลุ่มโรค NCDs ควรเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย แต่ทุกวันนี้เยาวชนกลายเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่วางกลยุทธ์ทางการตลาดทุกช่องทางเพื่อเพิ่มยอดขาย ขณะที่เยาวชนคิดว่าแอลกอฮอล์เป็นไลฟ์สไตล์ เป็นความทันสมัย ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือการเข้าสังคมร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งมีโอกาสทำให้เด็กติดสุราเมื่อเติบโตขึ้นได้ ” นพ.ทักษพล กล่าว
นางสาวอภิศา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการ”ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” โพธิสัตว์น้อย และโรงเรียนคำพ่อสอน กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เจ้าของธุรกิจร่ำรวยติดอันดับโลก แต่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคมากมาย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่เสี่ยงต่อการป่วยอยู่ในกลุ่มโรค NCDs นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้ขาดสติและส่งผลกระทบต่อสมอง จึงออกแบบการทำงานบูรณาการแบบเกาะติดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกแบบการศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ แต่ละช่วงวัยได้รู้จักผลร้ายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า จะทำให้ป่วยเป็นกลุ่มโรค NCDs ได้อย่างไร ที่ผ่านมามีการทำงานต่อเนื่องผ่านโครงการและโรงเรียนต่าง ๆ เช่น 1.โรงเรียนคำพ่อสอน 2.ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า (โพธิสัตว์น้อย) 3.ครูดีไม่มีอบายมุข ยอมรับว่า การทำงานในยุคนี้ต้องมองลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งถึงเหตุปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ถึงจะแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวได้
นางสาวมาลัย มีนศรี ผู้ประสานงานโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ กล่าวว่า เด็กปฐมวัยได้เห็นพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากคนใกล้ชิด ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งหมดนี้เป็นการซึมซับเข้าสู่ระบบสมอง ร้อยละ 80 ของเด็กเล็กที่กำลังเจริญเติบโตและฝังสู่จิตใต้สำนึก จนอาจส่งผลกระทบเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นจะเข้าสู่การเป็นนักดื่มได้ง่าย ทางโครงการฯ จึงได้มีแนวคิดพัฒนาสื่อเป็นชุดกิจกรรม เพื่อปลูกพลังบวกให้กับผู้เรียนผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เช่น นิทาน เพลง เกม ที่ครูจะต้องนำไปบูรณาการกับแผนการสอนในศูนย์เด็กเล็กและชั้นอนุบาลของโรงเรียน พร้อมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการกับคุณครู โดยสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครอง ผ่านกระบวนการติดตาม หนุนเสริม ผลการดำเนินงานแต่ละสถานศึกษา โดยคณะศึกษานิเทศก์ด้านปฐมวัย และฝ่ายการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 4 ภูมิภาค