กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. MOU สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยกระดับ SMEs เป็นที่ยอมรับระดับสากล


วันจันทร์ที่ 5 กรกฏาคม 2564 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์บริการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมี นางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเป็นผู้แทนลงนาม

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ และโฆษก อว. และศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ด้วย
วัตถุประสงค์ในการลงนามครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล





ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายที่ให้ความสำคัญคือการทำให้ภาพกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงแห่งการพัฒนา สร้างโอกาสให้กับประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน รวดเร็ว เป็น Transformative Demand Pull สามารถทำงานจริงจากความต้องการของประเทศและภาคธุรกิจ หากจะกล่าวถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วยวิสาหกิจขนาดใหญ่ และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ที่เรียกกันในนามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละกว่า 99.8 (ข้อมูลจากปี 2563) ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงเห็นควรพัฒนาศักยภาพ SMEs ของไทยเพื่อให้มีแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจโดยการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมและตอบโจทย์ความต้องการของภาค SMEs อย่างแท้จริง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะเป็นต้นแบบในการนำงานบริการวิทยาศาสตร์และวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามที่ตกลงร่วมกัน มาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ประกอบการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนดไว้ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากล

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีสมาชิกเป็นเอสเอ็มอี กว่า 100,000 ราย โดยมีเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีรายได้เพียงปีละ 1.8ล้านบาทในสัดส่วน60-70% จะมีเอสเอ็มอีขนาดกลางและใหญ่ในสัดส่วน 20% และ 10 % ตามลำดับ ที่ผ่านมาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มขาดการทำวิจัย เพราะไม่มีเงินลงทุนในการจ้างนักวิชาการดำเนินการ ทำให้มีสินค้าที่ไม่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้การเข้ามาทำข้อตกลง MOU กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนได้เข้าถึงงานพัฒนาวิจัย เป็นการช่วยเอสเอ็มอีขนาดเล็กได้โดยตรงนับเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการ
นางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่าความร่วมมือฯครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยการนำงานบริการและวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนากระบวนการผลิตและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนงานและโครงการร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และภูมิภาค สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความกระชับและคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา และวิทยาลัยชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อน SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก