วศ. อว. เเนะความสำคัญของการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการกับอุบัติภัยร้ายแรงที่เกิดจากสารเคมี

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กะทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีความห่วงใยจากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ภายในบริษัทผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ย่านถนนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทปราการ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 5 กรกฏาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดและเพลิงไหม้รุนแรงสร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง อาคาร และทรัพย์สินของโรงานและประชาชนเป็นวงกว้าง โดยมีสาร สไตรีน โมโนเมอร์ (styrene monomer) ซึ่งเป็นสารตัวทำละลายในกระบวนการผลิต ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการรั่วไหลของสารเคมี และเกิดเพลิงไหม้จนนำไปสู่การระเบิดของถังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ มีควันดำจากเปลวเพลิงที่สามารถมองเห็นได้แม้อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุหลายสิบกิโลเมตร และยังอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 10 ตารางกิโลเมตร จากไอระเหยของสไตรีนโมโนเมอร์ ฝุ่น PM 10 ฝุ่นPM2.5 และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์


อุบัติภัยดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียรุนแรงเฉียบพลันต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุ และประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงที่จะต้องใช้ชีวิตประจำวันสัมผัสต่อสารเคมีที่รั่วซึม ไอระเหยของสารเคมี และเขม่าควันของสารพิษที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นับเป็นความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้ การที่จะสร้างความมั่นใจอีกทางหนึ่งว่าโรงงาน สถานประกอบการ และห้องปฏิบัติการนั้นมีความปลอดภัยในการทำงาน หรือประชาชนเองสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งโรงงานได้อย่างอุ่นใจ นั่นคือการที่โรงงาน สถานประกอบการ และห้องปฏิบัติการ มีความสามารถในการปฏิบัติงาน มีการประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน มีการวางแผนป้องกันและแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและข้อกำหนดด้านการทำงานและความปลอดภัย


ความสำคัญของการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ ไม่เพียงส่งเสริมสมรรถนะให้ห้องปฏิบัติการมีความสามารถตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล (ISO/IEC 17025) เท่านั้น หากแต่ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการ บริษัท โรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานให้สอดคล้องต่อ กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อกำหนด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งนับเป็นหัวใจสูงสุดของหน่วยงานรับรองระบบงาน และการกำหนดข้อกำหนดกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และกฎหมายต่างๆ เช่น หน่วยงานที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้แก่ ส่วนเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลและจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค ลงพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ ถนนกิ่งแก้ว 21 จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โดยทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำในคลองที่รองรับน้ำเสียจากที่เกิดเหตุ จำนวน 3 คลอง นอกเหนือจากที่กรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำไปแล้ว ได้แก่ คลองปากน้ำ คลองสิงห์ใหญ่ และคลองบัวลอยใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ มีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการ โดยการส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ฟิสิกส์ และด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสามารถและเพิ่มสมรรถนะห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาประเทศต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ทางเว็บไซต์ www.dss.go.th และ Facebook : กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2201 7000 ในวันเเละเวลาราชการ
ขอบคุณภาพจาก : ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ,ส่วนเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี)